
คุณหญิงกัลยา เดินหน้านโยบาย ส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้ง หนุนศักยภาพคนไทย พร้อมรับโลกการทำงานยุคดิจิทัล
เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมงาน Grand Opening และมอบนโยบายส่งเสริมการเรียน Coding แห่งชาติ โดยมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), ผศ.ดร.ชัยยันต์ เจตนาเสน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่ให้ความสนใจ เข้าร่วม ณ สำนักหอสมุดกลาง ชั้น 4 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. และรักษาราชการแทน รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรม (Digital Disruption) ที่มุ่งปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของคนไทยในทุกช่วงวัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตลอดจนสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงานยุคดิจิทัลได้เต็มศักยภาพ โดยมีทักษะสำคัญอย่างน้อย 6 ด้าน ได้แก่ 1) ทักษะการอ่าน 2) ทักษะการเขียน 3) ทักษะการคิด 4) ทักษะการวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ มีเหตุผล 5) คิดเชิงคณิตศาสตร์ และ 6) การแก้ไขปัญหาอย่างมีหลักการ โดย สจล. ถือเป็นต้นแบบสถาบันการศึกษาแห่งอนาคตของไทย ที่มีแนวคิดที่ทันสมัย และสามารถปรับตัวได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ความร่วมมือของ Ecole42 สถาบันสำหรับผลิตโปรแกรมเมอร์ระดับโลก เพื่อพัฒนาคนคุณภาพด้านโปรแกรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ซึ่งสอดรับกับนโยบายดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับ “42 บางกอก” มีการเรียนการสอนในรูปแบบ Project Based Learning ที่เน้นการเรียนรู้จริง ปฏิบัติเป็น และแก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่ม ผ่านการฝึกคิดแก้โจทย์จริงจากภาคธุรกิจชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีแบบเป็นขั้นตอน ซึ่งจะเรียนรู้จากง่ายไปยาก โดยในระยะแรกผู้เรียนจะต้องเรียนการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น และเมื่อเลื่อนขั้นแล้วผู้เรียนจะสามารถเลือกทำโปรเจคตามความสนใจ ซึ่งในบางระดับต้องไปฝึกงานเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อสั่งสมประสบการณ์ในสนามจริง ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับหนังสือรับรองการสำเร็จหลักสูตร (Certificate of Completion) ซึ่งตอบโจทย์การเรียนการสอนในยุคดิสรัปชัน (Disruption) และผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าเทอมในการศึกษาตลอดระยะเวลาเรียน
ทั้งนี้ เมื่อทำโปรเจคสำเร็จในแต่ละระดับ จะมีคะแนนสะสมเพื่อขอเลื่อนขั้นในระดับต่อไป ได้จนกระทั่งจบการศึกษาภายในระยะเวลา 2-4 ปี เพื่อสร้างประสบการณ์ทำงานจริง เพิ่มทักษะด้านคอมพิวเตอร์ อาทิ ทักษะการเขียนโปรแกรม ภาษา C และ C ++ เพื่อสร้างเว็บไซต์ หรือทำงานออกแบบเว็บไซต์ให้มีฟังก์ชั่นที่รองรับการงานรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการเรียนที่ 42 บางกอก เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่มีอาจารย์สอน ไม่กำหนดเวลาเรียน ดังนั้น กระบวนการคัดเลือกผู้เรียน จึงมีการทดสอบแบบเข้มข้นใน 3 ด้าน คือ ทดสอบออนไลน์ เพื่อวัดว่ามีตรรกะ, ด้านการเขียนโปรแกรมยืนยันสิทธิ์ และการทำค่ายโปรเจกเวิร์คชอป
สำหรับคุณสมบัติของผู้เรียน ค่อนข้างเปิดกว้าง โดยเป็นบุคคลทั่วไป ไม่จํากัดเพศ มีอายุอย่างน้อย 18 ปี ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษา หรือเคยเรียนเขียนโปรแกรมมาก่อน ขณะเดียวกันคนที่กำลังศึกษาด้านอื่น หรือผู้ที่ทำงานแล้ว สามารถเรียนควบคู่ไปได้ และเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว สามารถกำหนดรูปแบบการเรียนด้วยตนเองได้ โดยในขณะนี้ 42 บางกอก กำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้เรียนเข้าศึกษาต่อในเทอมแรก ซึ่งมีผู้สมัครจากทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 1,500 คน ครอบคลุม 81 ประเทศ โดยจะเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้
สุดท้ายนี้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: www.42bangkok.com โทรศัพท์: 02-329-8140 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ https://m.facebook.com/42Bangkok/
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
26/3/2564
ครูอัพเดตดอทคอม ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก กระทรวงศึกษาธิการ