เช็คที่นี่ !! ค่าลดหย่อนบุตร ปี 2562 บุตรของท่าน ลดหย่อนภาษี
ได้ 30,000 บาท หรือ 60,000 บาท
สวัสดีครับ ครูอัพเดตดอทคอม มีเรื่องราวดีๆมาฝากคุณครู ทุกท่านครับ ช่วงนี้ใกล้สิ้นปีภาษีแล้ว หลายท่านที่เข้าเกณฑ์การเสียภาษีและมีบุตรคงกำลังสงสัยอยู่ว่า บุตรของท่านเข้าเกณฑ์การลดหย่อนภาษีหรือไม่และเท่าไหร่
จะเข้าเกณฑ์ 30,000 บาท หรือ 60,000 บาท มาเช็คเกณฑ์กันเลยครับ

- บุตรที่มีสิทธิหักลดหย่อนได้แก่ บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้หรือของคู่สมรส และบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
(1) เป็นผู้เยาว์
– อายุไม่ถึง 20 ปี (มาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) หรือ
– ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส (มาตรา 20 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) หรือ
(2) มีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือ ชั้นอุดมศึกษา (ระดับอนุปริญญาขึ้นไป) รวมถึงการศึกษาในหลักสูตรเนติบัณฑิต หรือ
(3) บุตรที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ และ
(4) ไม่มีเงินได้พึงประเมิน ไม่รวมเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่หักลดหย่อนถึง 30,000 บาท และต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
- จำนวนเงินที่มีสิทธิหักลดหย่อน
(1) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
คนละ 30,000 บาท
แต่บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดในปี พ.ศ.2561 หรือหลังจากนี้ สามารถใช้ค่าลดหย่อนได้เป็น
คนละ 60,000 บาท
(2) บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
หมายเหตุ การหักลดหย่อนบุตรตาม (1) และ (2) ให้หักลดหย่อนโดยไม่มีค่าการศึกษาอีก เนื่องจากถูกยกเลิกโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
- จำนวนบุตรที่มีสิทธิหักลดหย่อน
ในกรณีผู้มีเงินได้มีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก
เว้นแต่ — ในกรณีผู้มีเงินได้มีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมเป็นจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้
— แต่ถ้าบุตรชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้ โดยเมื่อรวมกับบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วต้องไม่เกิน 3 คน
- การนับจำนวนบุตร
ให้นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุมากน้อยเรียงกันไป โดยให้นับรวมทั้งบุตรที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการลดหย่อน (บรรลุนิติภาวะ) ด้วย (บุตรฝาแฝดที่คลอดออกมาก่อนถือเป็นบุตรที่มีอายุสูงกว่า)
- ให้หักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีจะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
- กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบุตรที่อยู่ในประเทศไทย
- กรณีบุตรบุญธรรมต้องได้รับการจดทะเบียนรับรองเป็นบุตรบุญธรรม โดยผู้ที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจะเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน โดยเริ่มหักได้ตั้งแต่ปีภาษีที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ส่วนบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเดิมของบุตรคนนั้น ไม่สามารถหักลดหย่อนได้อีก
สรุป ลดหย่อนได้ 30,000 บาท คือ บุตรทุกคนที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2561 และบุตรคนแรกที่เกิด ในปี พ.ศ.2561
ลดหย่อนได้ 60,000 บาท คือ บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่เกิดใน และหลังปี พ.ศ.2561
อ้างอิงจาก กรมสรรพากร