“ณัฎฐพล” ปรับแน่วิทยฐานะครู…ย้ำต้องเหมาะกับยุคสมัย

1170

“ณัฎฐพล” ปรับแน่วิทยฐานะครู…ย้ำต้องเหมาะกับยุคสมัย

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จัดงานวันสถาปนา สกสค.ครบรอบ 16 ปี ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. เป็นประธานมอบรางวัลพระพฤหัสบดี และรางวัลปิยนน์คนการศึกษา

พร้อมทั้งกล่าวตอนหนึ่งว่า สกสค.เป็นหน่วยงานสำคัญที่มีภาระกิจหลักช่วยส่งเสริมสนับสนุนสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูทำให้ครูมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งก็เหมือนภาระกิจของตนที่ต้องการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ข้าราชการครูทุกคน โดยตนอยากให้ครูที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ได้นำผลงานของตัวเองที่ได้รับรางวัลมาต่อยอดและแชร์ไปให้ครูคนอื่นๆได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จและนำไปสู่การปฎิบัติ

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วพร้อมกับการแข่งขันระดับประเทศ ดังนั้นตนฝากครูทุกคนจะต้องสร้างเด็กไทยให้สามารถแข่งขันในอนาคตให้ได้ เพราะเวลานี้ประเทศไทยไม่มีทางเลือกให้กับการศึกษาที่อ่อนแอ โดยครูจะต้องปรับวิธีการเรียนการสอนให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อย่าไปคิดว่าการศึกษาในตอนนี้ทุกคนปฎิรูปสำเร็จแล้ว

เพราะหากคิดเช่นนั้นทุกคนคิดผิด ซึ่งหากเราไม่สร้างสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นในการศึกษาด้วยเทคโนโลยีแล้ว ในอนาคตเด็กไทยจะไม่สามารถแบกรับการเจริญเติบโตของประเทศได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนา และเสริมความแข็งแกร่งของเด็กไทยให้ไปสู่ศตวรรษที่ 21 ให้ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กไปสู่จุดนั้นได้ก็มาจากครู ดังนั้นตนขอฝากครูทุกคนได้ช่วยกันต่อยอดและปรับปรุงสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นกับ เด็กและเยาวชนด้วย

นายณัฎฐพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ปัญหาหนี้ครู เป็นอีกนโยบายหนึ่งของตนที่ต้องการสร้างขวัญกำลังใจครู แต่ทั้งนี้ต้องมีการวางแผนให้ชัดเจนว่ามีรูปแบบใดบ้างในการแก้ไขปัญหาหนี้ ครู เพราะเราต้องมาดูพื้นฐานว่าปัญหาดังกล่าวคืออะไร หรือเกิดจากการที่หน่วยงานปล่อยกู้ให้ครูอย่างเต็มที่มากเกินไปหรือไม่

ซึ่งครูบางคนมีหนี้สินเกินตัวเราก็ต้องมาแก้วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของครูด้วย ส่วนประเด็นการปรับปรุงวิทยฐานะนั้นตนมีคณะทำงานที่เกี่ยวข้องที่จะมาแก้ไขแล้ว ซึ่งวิธีของตนคงไม่ยึดติดว่าจะขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะจะต้องวัดจากการเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่มีวิธีอื่นอีกมากในการนำมาใช้ ดังนั้นขอเวลาไม่นานในการปรับวิทยฐานะของครูให้เหมาะสมกับยุคสมัย จากนั้นจะสื่อสารให้ครูได้เข้าใจต่อไป.

ที่มาข่าวเพจ  At HeaR