“ดาว์พงษ์” สั่งยกเครื่องงาน “ลูกเสือ”

1133

เจอกับตัวเด็กแต่งเครื่องแบบแต่ไม่มีความรู้ ลั่นไม่ปล่อยผ่านเด็ดขาด

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้มีโอกาสเดินทางไปวางศิลาฤกษ์ อาคารสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) ที่จะสร้างใหม่อยู่ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยได้เจอนักเรียนผู้หญิงที่เป็นลูกเสือซึ่งมาเสิร์ฟน้ำตน ได้ติดเครื่องหมายขีดความสามารถต่างๆที่เสื้อที่เป็นเครื่องแบบลูกเสือเต็มไปหมด ตนจึงได้พูดคุย และสอบถามลูกเสือผู้หญิงคนดังกล่าวกลับไปว่า ลูกเก่งจังเลยมีเครื่องหมายผ่านขีดความสามารถด้านต่างๆมากมาย พร้อมทั้งถามด้วยว่าที่ติดมานั้นเป็นเครื่องหมายผ่านขีดความสามารถในด้านใดบ้าง ช่วยอธิบายให้ตนฟังได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ตนรู้สึกสะท้อนใจมากก็คือ เด็กผู้หญิงคนนี้ได้ตอบกลับมาว่าไม่ทราบว่าเครื่องหมายที่ติดมานั้นเป็นเครื่องหมายอะไรบ้าง คุณครูติดให้ทั้งหมด ซึ่งหลังจากที่ตนได้ยินดังนั้น จึงรู้สึกสะท้อนใจที่สุด เพราะสิ่งแรกที่ลูกเสือจะต้องรู้ก็คือ คติพจน์ และตราสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น คติพจน์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเอาไว้ คือ “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” ซึ่งรู้สึกแปลกใจมากที่เหตุใดคนที่เป็นลูกเสือจึงไม่รู้เรื่องเหล่านี้ ดังนั้นจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการยกเครื่องเรื่องลูกเสือ และเนตร–นารีอย่างจริงๆจังๆเสียที

“ผมรู้สึกไม่สบายใจที่พบว่าเด็กที่เป็นลูกเสือ และเนตรนารีจะไม่รู้สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นลูกเสือ นั่นก็คือ คติพจน์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเอาไว้ ผมได้ขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนของเด็กนักเรียนหญิงรายดังกล่าวมาพบเพื่อสอบถาม แต่ผอ.โรงเรียนไม่ได้มา มีเพียงคุณครูที่คุมเด็กนักเรียนมาเท่านั้น ซึ่งผมก็ได้สอบถามว่าทำไมถึงปล่อยให้เด็กที่เป็นลูกเสือไม่มีความรู้เกี่ยวกับลูกเสือเลยซักอย่าง แสดงว่าผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้เลย ผมจึงสั่งให้ไปรื้อเรื่องนี้ใหม่หมด ผมจะไม่ยอมให้ลูกเสือ เนตรนารีติดเครื่องหมายใดๆลงบนชุดที่สวมใสโดยที่ไม่มีความรู้ความสามารถจริงแม้แต่รายเดียว ผมได้ปักธูปตรงเป็ดไก่ อธิษฐานต่อหน้าอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าผมจะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ปรากฏว่าวินาทีหนึ่งผมถึงกับขนลุกเลยทีเดียว” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวอีกว่า ตนได้มอบหมายให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปว่า สพฐ.จะต้องเข้ามาช่วย สลช. ในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะ สลช.เขาทำได้แค่เป็นผู้กำหนดกติกาเท่านั้น แต่ สพฐ.ต้องเป็นผู้เข้าไปช่วยผลักดันเรื่องนี้สู่การปฏิบัติให้เห็นผลอย่างแท้จริง.

ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 21 ก.ค. 2559