ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 1315 เรื่อง ซักซ้อมการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างประจำ ครั้งที่ 1 (1 เมษายน 2561)

780

ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 1315 เรื่อง ซักซ้อมการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างประจำ ครั้งที่ 1 (1 เมษายน 2561)

สรุปสาระสำคัญ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในส่วนกลาง ครั้งที่ 1 (1 เมษายน 2561)
สำหรับ สำนัก / เทียบเท่า ในส่วนกลาง

1. การพิจารณาเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ถือปฏิบัติตามประกาศ สพฐ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ ประกาศ ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2552 และแนวปฏิบัติในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ สพฐ. พ.ศ. 2553 ประกอบกับ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการ พ.ศ.2552 (หนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ. ว 28 /ว 20 /ว 27 /ว 7 ฯลฯ) และหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว 347 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2559

2. ให้ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานในรอบครึ่งปีที่ผ่านมาในวันที่ 12 มีนาคม 2561 โดยประเมินผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 12 มีนาคม 2561 และนำผลการปฏิบัติงาน ที่จะเกิดขึ้น จากวันที่ 13 – 31 มีนาคม 2561 มาประกอบการพิจารณาด้วย ตามแบบประเมินที่กำหนดแนบท้ายประกาศฯ

การประเมินผลสัมฤทธิ์ของงานมีสัดส่วนคะแนนร้อยละ 80 ประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติราชการหรือสมรรถนะมีสัดส่วนร้อยละ 20 ผู้อยู่ระหว่างทดลองราชการสัดส่วนแต่ละองค์ประกอบร้อยละ 50

3. การประเมินผลสัมฤทธิ์ของงาน ผู้ประเมินและผู้รับการประเมินกำหนดข้อตกลงตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย (ที่บ่งชี้ความสำเร็จของงาน) น้ำหนักตัวชี้วัดแต่ละตัวชี้วัดไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 10 และน้ำหนักทุกตัวของตัวชี้วัดรวมกันต้องเท่ากับ 100% การประเมินสมรรถนะในแต่ละประเภทตำแหน่งต้องประเมินสมรรถนะหลัก 5 ตัวก่อน สำหรับสมรรถนะตัวอื่น ๆ ได้กำหนดไว้แล้ว (ดูตารางแนบท้ายแบบประเมิน)

4. ระดับผลการประเมินตามประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน ดังนี้

ระดับดีเด่น คะแนน 90% ขึ้นไป

ระดับดีมาก คะแนน 80 – 89%

ระดับดี คะแนน 70 – 79%

ระดับพอใช้ คะแนน 60 – 69%

ระดับต้องปรับปรุง คะแนนต่ำกว่า 60% (ไม่ได้เลื่อนเงินเดือน)

5. ผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินแก่ผู้รับการประเมินเป็นรายบุคคล เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ โดยให้ผู้รับการประเมิน ลงลายมือชื่อรับทราบผลการประเมิน กรณีไม่ยินยอมลงลายมือชื่อให้ข้าราชการที่อยู่ในหน่วยงานเดียวกันหนึ่งคนลงลายมือชื่อเป็นพยานว่าได้มีการแจ้งผลแล้ว

6. เสนอผลการปฏิบัติราชการต่อคณะกรรมการกลั่นกรองระดับสำนัก เพื่อพิจารณากลั่นกรองเสนอความเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานและความเป็นธรรมของการประเมินผลการปฏิบัติราชการ

7. ประกาศรายชื่อผู้ที่มีผลการประเมินฯ อยู่ในระดับ “ดีเด่น” และ “ดีมาก” ให้ทราบทั่วกัน และให้จัดเก็บสำเนาแบบประเมินและหลักฐานความสำเร็จของงานไว้ที่สำนักฯ อย่างน้อยสองรอบการประเมิน ส่วนต้นฉบับเก็บไว้ที่แฟ้มประวัติ

8. เสนอขอเลื่อนเงินเดือนภายในวงเงินที่ได้รับจัดสรร คำนวณได้จากฐานอัตราเงินเดือนรวมที่มีตัวอยู่จริง ณ วันที่ 1 มีนาคม 2561 รวมผู้มาช่วยปฏิบัติราชการ ถ้ามี (ยกเว้น ผอ.สำนัก)

9. นำผลการประเมินมาพิจารณากับวงเงินที่ได้รับจัดสรรเพื่อกำหนดร้อยละของการเลื่อนเงินเดือน (ซึ่งต้องไม่เกินวงเงิน ที่ได้รับจัดสรร) ในรูปของคณะกรรมการระดับสำนัก ซึ่งอาจเป็นคณะกรรมการชุดเดียวกันกับคณะกรรมการกลั่นกรอง ผลการประเมินฯ ก็ได้

10. เกณฑ์ที่ถือว่า “ลาบ่อยครั้ง” และการมาทำงานสายเนืองๆ ซึ่งไม่อาจเลื่อนเงินเดือนได้ คือ
ลาเกิน 8 ครั้ง หรือ มาทำงานสายเกิน 9 ครั้ง การนับระยะเวลาการลาเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ประเมินฯ และให้ตรวจสอบอีกครั้งจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ ให้แจ้งกลุ่มงานเลื่อนเงินเดือน สพร. ทราบภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 เพื่องดการเลื่อนเงินเดือน ต่อไป

11. ผู้ที่ได้รับเงินเดือนใกล้ถึงเงินเดือนสูงสุดของประเภทตำแหน่ง สายงานหรือระดับตำแหน่ง และได้รับการพิจารณา ให้เลื่อนเงินเดือนเกินกว่าเงินเดือนที่เหลืออยู่ ให้เลื่อนเงินเดือนจนถึงขั้นสูงสุดนั้นก่อน ส่วนจำนวนเงินที่เหลือให้ได้รับเป็นค่าตอบแทนพิเศษ สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดอยู่แล้ว ให้ได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามผลการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน ทั้งนี้ จำนวนเงินที่ใช้เลื่อนเงินเดือนดังกล่าวต้องรวมอยู่ในวงเงินที่ได้รับจัดสรรให้ใช้ในการเลื่อนเงินเดือน

12. ประกาศร้อยละการเลื่อนเงินเดือนในแต่ละระดับผลการประเมิน (ไม่ประกาศรายชื่อ)

13. แจ้งผลการเลื่อนเงินเดือนทราบเป็นข้อมูลเฉพาะแต่ละบุคคล

สรุปสาระสำคัญ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครู/ลูกจ้างประจำ ครั้งที่ 1 (1 เมษายน 2561)
สำหรับ สำนัก / เทียบเท่า ในส่วนกลาง

1. การพิจารณาเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครู/ค่าจ้างลูกจ้างประจำ ให้ถือปฏิบัติตามประกาศ สพฐ. เรื่อง แนวปฏิบัติในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการ สพฐ. พ.ศ. 2551 ประกอบกับ กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2550 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2544 และหนังสือที่เกี่ยวข้อง

2. ให้ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานในรอบครึ่งปีที่ผ่านมาในวันที่ 12 มีนาคม 2561 โดยประเมินผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 12 มีนาคม 2561 และนำผลการปฏิบัติงาน ที่จะเกิดขึ้นจริง จากวันที่ 13 – 31 มีนาคม 2561 มาประกอบการพิจารณาด้วย

3. ให้ประกาศรายชื่อผู้ที่มีผลการประเมินฯ อยู่ในระดับ “ดีเด่น” ให้ทราบทั่วกัน โดย

– ผลการประเมินดีเด่น ระดับคะแนนไม่ต่ำกว่า 90 – 100 % อยู่ในข่ายอาจได้รับการพิจารณาเลื่อน 1 ขั้น

– ผลการประเมินเป็นที่ยอมรับได้ ระดับคะแนนไม่ต่ำกว่า 60 – 89 % อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาเลื่อน 0.5 ขั้น

– ผลการประเมินต้องปรับปรุง ระดับคะแนนต่ำกว่า 60 % ไม่ควรเลื่อนขั้นเงินเดือน

4. เกณฑ์ที่ถือว่า “ลาบ่อยครั้ง” และ “การมาทำงานสายเนือง ๆ” ซึ่งไม่อาจเลื่อนขั้นฯ ได้

4.1 ลาเกิน 8 ครั้ง (ถ้าลาเกินจำนวนครั้งที่กำหนด แต่วันลาไม่เกิน 15 วันทำการและมีผลการปฏิบัติงานดีเด่น อาจเสนอเลขาธิการ กพฐ. พิจารณาผ่อนผันให้เลื่อนขั้นเงินเดือนได้ โดยบันทึกชี้แจงเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษร แจ้งให้ สพร. ทราบ พร้อมผลการปฏิบัติงาน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ ระดับ สพฐ. พิจารณาต่อไป)

4.2 มาทำงานสายเกิน 9 ครั้ง
การนับระยะเวลาการลา เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ประเมินฯ และให้ตรวจสอบอีกครั้งจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ ให้แจ้ง กลุ่มงานเลื่อนเงินเดือน สพร. ทราบภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 เพื่องดการเลื่อนขั้นเงินเดือน/ค่าจ้างต่อไป หากไม่แจ้งตามเวลาที่กำหนด สพร. ถือว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ

5. การแจ้งผลการพิจารณาเสนอขอเลื่อนเงินเดือน/ค่าจ้าง ให้แบ่งออกเป็น

5.1 กลุ่มข้าราชการครู อันดับ คศ. 3 ลงมา หรือ คศ. 4-5 (ถ้ามี) ใช้โควตาและวงเงินคนละกลุ่มอันดับ

5.2 กลุ่มลูกจ้างประจำ

6. โควตาสำหรับการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครู/ลูกจ้างประจำ ให้เลื่อน 0.5 ขั้น (ในแต่ละกลุ่ม) เสนอขอเลื่อน 1 ขั้น ไม่เกินโควตาร้อยละ 15 ของจำนวนข้าราชการครู/ลูกจ้างที่มีตัวอยู่จริง ณ วันที่ 1 มีนาคม 2560 โดยรวมผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษร้อยละ 4 (1 ขั้น) ในโควตานี้ด้วย

7. ผู้ที่ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างเต็มขั้นสูงของตำแหน่งอยู่แล้ว หากได้รับการพิจารณาให้เลื่อน 1 ขั้น หรือ 0.5 ขั้น จะมีสิทธิได้รับ “ค่าตอบแทนพิเศษ” ในอัตรา 4 % หรือ 2 % ตามลำดับ

กรณีข้าราชการ/ลูกจ้างฯ ที่มีขั้นเงินเดือน/ค่าจ้าง ใกล้ถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง หากได้รับการพิจารณา ให้เลื่อนเงินเดือนเกินกว่าขั้นที่เหลืออยู่ ให้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนฯ โดยนำผลการเลื่อนขั้นส่วนที่เหลือจากการเลื่อนขั้นปกติมารับเป็นเงินตอบแทนพิเศษตามผลการพิจารณา

หมายเหตุ : สำหรับพนักงานราชการให้สำนัก / เทียบเท่า ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการในสังกัดไว้ด้วย












ดาวน์โหลดไฟล์ทั้งหมดที่นี่!!

ที่มา : สพร.สพฐ.