
บอร์ด กพฐ.ห่วง !!! คุณภาพผู้เรียนช่วงโควิด-19 ระบาด
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นจนทำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศแจ้งปิดสถานศึกษาในสังกัด 28 จังหวัดพื้นที่สีแดง
ซึ่งที่ประชุมมีความกังวลเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนของผู้เรียนหากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่คลี่คลายจนไม่สามารถเปิดเรียนตามปกติได้ในวันที่ 31 ม.ค.จะมีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้คุณภาพของผู้เรียนดีขึ้นในขณะที่เด็กยังคงต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์
โดยที่ประชุมขอให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจถึงบทบาทและสถานการณ์ที่ต้องเรียนออนไลน์ รวมถึงการให้การบ้านนักเรียนครูจะต้องพูดคุยกันเพื่อบูรณการการบ้านให้เหลือชิ้นเดียวแต่ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ นอกจากนี้อยากให้ครูที่จัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ดี ส่งข้อมูลการสอนของครูเหล่านี้มาใส่เป็นข้อมูลไว้ที่ศูนย์ข้อมูลส่วนกลางของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อที่ครูคนอื่น ๆ จะได้นำไปเป็นตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนได้
ประธาน กพฐ. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมอยากให้มีการปรับตัวชี้วัดการเรียนการสอนในภาคเรียนนี้ให้เหมาะสมกับวิกฤติโควิดด้วย เพราะการเรียนการสอนและการประเมินผลปรับเปลี่ยนใหม่หมด จึงต้องปรับให้เกิดความเหมาะสมขณะเดียวกันที่ประชุมยังหารือถึงแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเราอยากเห็นเด็กไทยจบการศึกษาขั้นพื้นฐานออกมาในลักษณะไหนก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมกันนี้ยังเสนอแนะให้ สพฐ.วางแผนสร้างเด็กไทยให้คิดวิเคราะห์เป็นและมีการเรียนรู้อย่างหลากหลาย และมีทักษะชีวิตที่เข้มแข็งพร้อมกับรับผิดชอบต่อสังคม
ซึ่ง สพฐ.รับที่จะไปดำเนินการพร้อมกับการจัดทำแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานในปี 2564-2565 นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบเรื่องการยกเลิกทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ปี 2563 ของนักเรียนชั้น ป.6 และม.3 แล้ว เนื่องจากจะไม่มีการนำผลคะแนนโอเน็ตมาใช้เพื่อเข้าศึกษาต่อหรือเลื่อนชั้น ส่วนนโยบายโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชนของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการนั้น ที่ประชุมมองว่าเป็นเรื่องดีแต่คงไม่สามารถนำโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชนที่เป็นโมเดลจังหวัดภูเก็ตมาใช้กับทุกจังหวัด แต่จะต้องบริหารจัดการให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่.
ครูอัพเดตดอทคอม ขอขอบคุณข้อมูลจาก At_HeaR