มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 15 กุมภาพันธ์ 2565

980

มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 15 กุมภาพันธ์ 2565

มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 15 กุมภาพันธ์ 2565
มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 15 กุมภาพันธ์ 2565

ครม.เห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนพิการใน รร.เอกชน และอนุมัติแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ปี 2564-2580

ครม.เห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนพิการ
ครม.เห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนพิการ

สรุปมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 2 เรื่อง คือ เห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา ระดับ ปวช. และอนุมัติ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2580

เห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคล สำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาและโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สำหรับการขอรับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เห็นควรให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบสถานะจำนวนนักเรียนโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา และอัตราการจ่ายเงินอุดหนุนค่าจัดการเรียนการสอน ในส่วนที่เป็นเงินสมทบเงินเดือนครูในโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา ให้คำนวณเป็นอัตราต่อหัวนักเรียนต่อปี โดยใช้จำนวนครูหนึ่งคนต่อนักเรียน 10 คน

สำหรับระดับก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษา และจำนวนครูหนึ่งคนต่อนักเรียน 15 คน สำหรับระดับมัธยมศึกษา เป็นฐานในการคำนวณเพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับเงินสมทบเงินเดือนครูในโรงเรียนเอกชน ประเภทอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาภาพรวมของค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้พิจารณาให้ความเห็นชอบดังกล่าวแล้ว

อนุมัติ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2580

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2580 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามยุทธศาสตร์ นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ไปใช้เป็นกรอบแนวทางการบริหารเชิงนโยบายให้เป็นเอกภาพ และมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ (ผู้มีความสามารถพิเศษฯ) ในภาพรวมอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 ยุทธศาสตร์ มาตรการ ที่กำหนดขึ้น

นอกจากนี้ ให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานประสานหลักและให้อำนาจ (authority) ในการติดตามและสั่งการ เพื่อให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินงานให้เหมาะสม

สาระสำคัญของเรื่อง บุคลากรวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีจำนวนนักวิจัยชั้นนำและกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงไม่เพียงพอที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรม ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและนวัตกรรมจึงมีความจำเป็นต้องเร่งรัดการสรรหาและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษฯ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาที่มีความสามารถผลิตผลงานวิจัย ยกระดับคุณภาพสู่มาตรฐานโลก (World class) และทำให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ จึงเปรียบเสมือนแผนที่นำทางในการบริหาร การพัฒนา และการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษฯ ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพในทุกช่วงชั้นอย่างเป็นระบบ และมีการส่งต่อผู้มีความสามารถพิเศษฯ สู่แผนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นภายใต้บริบทเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ โดยมุ่งให้เป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นำไปกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมในการค้นหา พัฒนาและส่งเสริมตลอดจนจัดระบบบริหารจัดการผู้มีความสามารถพิเศษฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถสนับสนุนการพัฒนาประเทศเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งต่อผู้มีความสามารถพิเศษฯ ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพแล้วไปปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมโดยตรง เพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป

วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย

หัวข้อ สาระสำคัญ
วิสัยทัศน์ ผู้มีความสามารถพิเศษฯ ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม อันนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ บริการใหม่ มากขึ้นตามลำดับในระยะ 20 ปี
พันธกิจ สรรหา พัฒนา และส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษฯ ให้ได้รับการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดจนถึงระดับการศึกษาสูงสุด และส่งเสริมให้มีโอกาสในการค้นคว้า วิจัยทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อเป็นนักวิจัยชั้นนำของประเทศ สามารถสร้างองค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม เพื่อสนองตอบความต้องการของประเทศ
เป้าหมาย มุ่งยกระดับการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษฯ ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและมีความต่อเนื่องในทุกช่วงวัย ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา และหลังสำเร็จการศึกษา อีกทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้เข้าสู่การปฏิบัติงานในระบบการพัฒนาวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ โดยตั้งเป้าให้เกิดการผลิตนักวิจัย จำนวน 4,000 คนต่อปี เข้าสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศ

ยุทธศาสตร์การสร้างกลไกและการบริหารจัดการ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก สรุปได้ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับอุดมศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าปฏิบัติงานในหน่วยวิจัยและนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างเส้นทางอาชีพ (Career Path) สภาพแวดล้อมและระบบสนับสนุน (Ecosystem) ที่เหมาะสมสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ยุทธศาสตร์ที่ 5 กลไกการบริหารการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่แผนพัฒนากำลังคนของประเทศ

ขอบคุณเนื้อหาจาก ศธ360องศา

เรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม ขอเชิญเข้าร่วม การอบรม Stand Up (การลดภัยคุกคามบนท้องถนนและที่สาธารณะ) ได้รับเกียรติบัตรทุกท่านหลังจบการอบรม

พบเห็นไฟล์หรือเนื้อหาที่ไม่สามารถดาวน์โหลดหรือเปิดได้ หรือไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งเราได้ที่ : https://www.facebook.com/krooupdatedotcom/