รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” ตอบกระทู้ถามในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การจัดการศึกษาในรูปแบบออนไลน์

806

รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” ตอบกระทู้ถามในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การจัดการศึกษาในรูปแบบออนไลน์

advertisement

รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” ตอบกระทู้ถามในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การจัดการศึกษาในรูปแบบออนไลน์
รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” ตอบกระทู้ถามในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การจัดการศึกษาในรูปแบบออนไลน์

รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” ตอบกระทู้ถามในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ของนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย จังหวัดกระบี่ เรื่อง การจัดการศึกษาในรูปแบบออนไลน์
ข้าพเจ้า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ดังนี้

รมว.ศธ. ตอบกระทู้เรื่อง การจัดการศึกษาในรูปแบบออนไลน์
รมว.ศธ. ตอบกระทู้เรื่อง การจัดการศึกษาในรูปแบบออนไลน์

คำตอบข้อที่ 1 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า ได้มีนโยบายให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้

คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อคน ในภาคการศึกษาที่ 1/2564 ให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ระดับอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง รวมถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งให้สถานศึกษาดำเนินการจ่ายเงินโดยตรงให้แก่นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครอง ในรูปแบบของเงินสด หรือบัญชีธนาคารแล้วแต่กรณี

ลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ที่ขาดหายไป (Learning Loss) โดยให้สถานศึกษาสามารถถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปีการศึกษา 2564 พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนรู้และแก้ปัญหาความปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงจัดทำสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้ให้แก่โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมจำนวน 34,887 แห่ง

นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้สถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด ดำเนินการจัดการเรียนการสอนใน 4 รูปแบบ ได้แก่

1. การเรียนการสอนผ่านทีวี (ON-AIR) โดยการจัดการเรียนรู้จาก DLTV ผ่านจานดาวเทียม ระบบเคเบิลทีวี (Cable TV) และระบบ IPTV

2. การเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (ONLINE) ผ่านทางระบบ Video Conference ระบบอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน และระบบอื่น

3. การเรียนการสอนแบบ ON-DEMAND ผ่านทางเว็บไซต์ DLTV (www.dltv.ac.th) ช่อง Youtube (DLTV Channel 1-15) และแอปพลิเคชัน DLTV บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต โดยนักเรียนสามารถศึกษาย้อนหลังเพื่อทำความเข้าใจในบทเรียนเพิ่มเติมได้

4. การเรียนการสอนแบบ ON-HAND สำหรับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์เทคโนโลยี โดยให้นำหนังสือ แบบฝึกหัด ใบงาน ไปเรียนรู้ที่บ้านภายใต้ความช่วยเหลือของผู้ปกครอง ในกรณีที่สถานศึกษาอยู่นอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด ให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามปกติ (ON-SITE) โดยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จังหวัดอย่างเคร่งครัด และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการควบคุม กำกับ ติดตามให้ความสะดวกแก่สถานศึกษา ทั้งนี้ สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมและบริบทของพื้นที่ได้ โดยนักเรียนและผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องหาซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม

สำหรับโรงเรียนเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ ดังนี้

1. จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน “ฝ่าวิกฤตโควิด 19” และให้บริการสายด่วน 1693 เพื่อรองรับการตอบข้อซักถาม และให้ข้อมูลต่าง ๆ

2. จัดทำแนวทางการจัดการศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกำชับโรงเรียนให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ

3. จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการศึกษาออนไลน์กับบริษัทพันธมิตร จำนวน 22 ราย ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล หรือ ODLC (OPEC Digital Learning Center) ที่ให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ

advertisement

4. มีหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจการจัดการเรียนการสอนระหว่างปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ การคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น พร้อมทั้งแจ้งให้โรงเรียนมิต้องจัดการเรียนการสอนเฉพาะทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว หากแต่สามารถบริหารจัดการเรียนการสอนได้ตามบริบทและความเหมาะสมกับนักเรียน

5. มีหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชน ซักซ้อมแนวทางการด าเนินงานและการบริหารงบประมาณเงินอุดหนุนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้โรงเรียนสามารถนำเงินอุดหนุนค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนไปใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนตามความจำเป็นได้ รวมถึงเป็นค่าอินเทอร์เน็ตในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ครู นักเรียน หรือจัดหาอินเทอร์เน็ตซิมการ์ด ชั่วโมงอินเทอร์เน็ต หรือการเช่าซื้อจัดหาซอฟต์แวร์สำหรับการสื่อสารทางไกลเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ได้

ในส่วนของอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้จัดทำประกาศ เรื่อง แนวทางการจัดการเรียนรู้อาชีวศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย เพื่อปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบทของสถานศึกษา ซึ่งในกรณีที่ผู้เรียนไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ หรือขาดแคลนอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ ให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนโดยการให้นักเรียน นักศึกษานำใบความรู้ ใบกิจกรรม ใบงาน หรือการบ้านที่ครูมอบหมายไปศึกษาที่บ้าน

คำตอบข้อที่ 2 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบาย แผนงาน หรือแนวทางเพื่อให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบเครือข่ายของเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการด้านการศึกษา และการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ หรือมีการประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้มีแนวทางในการให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้งานระบบเครือข่ายไร้สายที่มีประสิทธิภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชนที่ต้องประสบปัญหาในการเข้าถึงระบบเครือข่ายของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า ได้มีนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ให้แก่นักเรียนที่มีความจำเป็นต้องเรียนออนไลน์ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2564 จนถึง 15 ตุลาคม 2564 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองและสนับสนุนให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ใน 2 รูปแบบ ดังนี้

การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) โดยให้ใช้งานได้ไม่จำกัด สำหรับแอปพลิเคชันเพื่อการเรียน ได้แก่ Microsoft Teams, Google Meet, Zoom, Cisco Meeting, Webex และ Line Chat อีกทั้งสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมได้อีก 2 GB

สนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตบ้านสำหรับการเรียน (Fixed Broadband) เดือนละ 79 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จำนวน 2 รอบบิล

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรค่าเช่าใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้กับโรงเรียนทุกแห่งในสังกัด เพื่อจัดการเรียนการสอนและการบริหารภายในโรงเรียน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณค่าเช่าใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ดังนี้
– โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 120 คน ได้รับจัดสรรงบประมาณโรงเรียนละ 1,300 บาท ต่อเดือน

– โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 – 300 คน ได้รับจัดสรรงบประมาณโรงเรียนละ 2,000 บาท ต่อเดือน

advertisement

– โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 301 – 500 คน ได้รับจัดสรรงบประมาณโรงเรียนละ 3,900 บาท ต่อเดือน

– โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 501 – 2,000 คน ได้รับจัดสรรงบประมาณโรงเรียนละ 5,000 บาท ต่อเดือน

– โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 2,001 คนขึ้นไป ได้รับจัดสรรงบประมาณโรงเรียนละ 6,000 บาท ต่อเดือน

– ศูนย์บริหารการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมโรงเรียนละ 650 บาท ต่อเดือน

ขอบคุณเนื้อหาจาก กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม ซักซ้อม การเลื่อนเงินเดือน ข้าราชการ/เลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำ ครั้งที่ 1 (1 เมษายน 2565)