
รวม 16 ผลงานเด่นด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 1 ปี (กรกฎาคม 2562-2563)
สวัสดีครับ ครูอัพเดตดอทคอม มีสาระดีๆที่น่าสนใจมาฝากครับ กระทรวงศึกษาธิการ โดยเพจ ศธ 360 องศา
ได้เผยแพร่ บทสรุป รวม 16 ผลงานเด่นด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 1 ปี (กรกฎาคม 2562-2563)
โดยมีราละเอียดดังนี้ครับ

จากการที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นระยะเวลา 1 ปี ถือว่าได้วางรากฐานการเปลี่ยนแปลงให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาพอสมควร หลายเรื่องได้รับการพัฒนาปรับปรุงแก้ไข เช่น หลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา การสรรหาบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครู รวมถึงกรอบพัฒนาครูและผู้บริหารทั้งระบบ นอกจากนี้ยังมีการวางกรอบแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของคุรุสภา การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงการยกระดับการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ซึ่งช่วยให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น
แนวทางการทำงานที่สำคัญ จึงเป็นการทำงานที่ยึดหลักสะสางปัญหาที่คั่งค้าง และเดินหน้าสู่อนาคตของการศึกษาไทย โดยเฉพาะการสร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่าง ศธ. กับสถานศึกษาหน่วยงานในพื้นที่ และผู้เรียน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอนาคต แม้จะเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ก็สามารถสานต่อการทำงานได้
1. รัดเข็มขัดงบประมาณ ศธ.
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้นโยบายในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2562 โดยขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ “รัดเข็มขัดงบประมาณ ศธ.” ใน 4 เรื่องที่สำคัญ “งด-ลด-ยกเลิก-ทบทวน” ดังนี้
- งด การศึกษาดูงานต่างประเทศ 1 ปี
- ลด การจัดประชุมสัมมนาที่ใหญ่โต เพราะสามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยี
- ยกเลิก การจัดงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรืองานลักษณะอีเว้นท์ (Event)
- ทบทวน งบประมาณที่ซ้ำซ้อน โดยเน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยี นำระบบเทคโนโลยีของทุกหน่วยงานเข้ามาอยู่ส่วนกลางเพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการข้อมูลไม่ให้เกิดความทับซ้อนกัน ทำให้ข้อมูลมีความเป็นเอกภาพ
ผลจากนโยบายดังกล่าว ทำให้ ศธ.สามารถบริหารจัดการงบประมาณปี 2563 ของ ศธ. ซึ่งได้รับจัดสรรจำนวน 362,752.9177 ล้านบาท ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และนำงบประมาณที่เหลือไปใช้ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของรัฐบาล
2. กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนและการช่วยเหลือประชาชนในวิกฤตโควิด-19
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้ ศธ.ต้องวางแผนการเรียนการสอนในสถานการณ์ให้รองรับกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ซึ่งได้มีการเลื่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2563 ทุกระดับ ทุกประเภทการศึกษา จากเดิมวันที่ 15 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563
ในระหว่างที่ปิดเทอม ได้จัดให้มีการทดลองการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่พ้นวิกฤต ภายใต้แนวคิด “โรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้” โดยจัดให้มี 3 รูปแบบการทดลองการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่
โดยมีการเรียนรู้แบบ On-Site ในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสามารถไปโรงเรียนได้ ขณะที่พื้นที่ไม่ปลอดภัยจะมีการเรียนรู้หลักผ่าน On-Air ด้วยช่อง DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และขอความร่วมมือไปยัง กสทช. ให้เปิดช่องทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษาจำนวน 17 ช่อง เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้ทดลองการเรียนที่บ้านทุกระดับก่อนเปิดภาคเรียน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และ กศน. เริ่มออกอากาศทางทีวีดิจิทัล และแพร่ภาพผ่านโทรทัศน์ระบบดาวเทียม และทุกแพลตฟอร์ม ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นเวลา 6 เดือน และมีการเรียนรู้เสริมผ่านระบบ Online ผ่านทางแอปพลิเคชัน DLTV หากไม่มีทีวีดาวเทียม หรือทีวีดิจิทัล นักเรียนก็ยังสามารถเรียนออนไลน์ได้โดยเน้นไปที่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นหลัก
ส่วนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ศธ.ได้จัดทำแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อม กับ 176 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และโยงคนพิการทั้งประเทศ ให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และการพัฒนาตนเองได้มากขึ้น ตามแนวทาง “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวส่งผลให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเรียนรู้วิธีการดูแล พัฒนาผู้เรียนที่พิการได้ในระหว่างที่มีการเรียนที่บ้าน ทั้งยังสามารถบรรจุสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ การให้คำปรึกษา แนะนำ และเรื่องอื่น ๆ ไปยังหน่วยงาน สถานศึกษาในสังกัด ศธ.ได้ด้วย
สำหรับการศึกษาเอกชน ได้จัดรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนเอกชน 3 วิธี คือ 1) เรียนในโรงเรียนปกติ ในพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยจัดการเรียนการสอนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และให้มีระยะห่างของสังคม (Social Distancing) เช่นเดียวกัน 2) เรียนผ่านระบบทางไกล On-Air ผ่าน DLTV ในระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 และผ่านทีวิดิจิทัล 17 ช่อง โดย สพฐ.ผลิตคลิปทุกกลุ่มสาระทุกระดับชั้น 3) ระบบ Online ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยร่วมมือกับ 8 พันธมิตรในการใช้แพลตฟอร์มและเนื้อหาจัดการเรียนการสอน
นอกจากนี้ ศธ.ได้เตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตามแนวทาง “โรงเรียนสุขภาพดี นักเรียนมีความสุข (Back to Healthy School)” โดยกำหนดแนวปฏิบัติของสถานศึกษาระหว่างเปิดภาคเรียน จะต้องมีการคัดกรองสุขภาพ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดสถานที่ล้างมือหรือแอลกอฮอล์เจล ลดการแออัด เว้นระยะห่างในห้องเรียน และทำความสะอาดสถานที่ซึ่งส่งผลให้สถานศึกษาทุกสังกัดทุกระดับ ได้ปรับปรุงห้องเรียน ด้วยการจัดโต๊ะที่นั่งเรียน ให้เว้นระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร หรือห้องเรียนละไม่เกิน 25 คน และปรับปรุงพื้นที่อื่น ๆ ในโรงเรียน อาทิ โรงอาหารที่ต้องเว้นระยะห่างบุคคลไม่ต่ำกว่า 2 เมตร มีการทำความสะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสุขาและจุดสัมผัสต่าง ๆ ที่สำคัญคือ งดการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความแออัดอีกด้วย
เมื่อถึงวันเปิดเทอม 1 กรกฎาคม 2563 สถานศึกษาทุกสังกัด ทั้งรัฐ เอกชน โรงเรียนนานาชาติ และสถานศึกษาอาชีวศึกษา จึงสามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ โดยไม่ต้องสลับวันมาเรียน มีจำนวนกว่า 31,000 โรงเรียน ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนมาก ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติ หรือให้นักเรียนทุกคนมาเรียนพร้อมกันได้ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,532 โรงเรียน ก็ต้องสลับกันมาเรียนจนกระทั่งไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศต่อเนื่อง จึงผ่อนคลายให้ทุกโรงเรียนสามารถเรียนได้ตามปกติ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 แต่ยังคงปฏิบัติภายใต้มาตรการต่าง ๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ในส่วนของภาคการทำงาน ได้วางระบบการทำงานจากบ้าน (Work from Home) มาใช้ในทุกส่วนราชการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยกำหนดสัดส่วนผู้ทำงานจากบ้านในช่วงวิกฤต จำนวนร้อยละ 25 ไปจนถึงร้อยละ 50 และผ่อนคลายเป็นระยะ ๆ จนสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติในสำนักงาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563
สำหรับการช่วยเหลือประชาชนนั้น ทุกหน่วยงานได้ระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร บุคลากร งบประมาณ ลงไปให้การช่วยเหลือประชาชนและสังคม เช่น สถานศึกษาอาชีวศึกษา ผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า 50,000 ชิ้น ป้องกันได้ทั้งโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 ผลิตอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์คือ หน้ากากโปร่งใส 5,000 ชิ้นกล่องครอบป้องกันการฟุ้งกระจาย 1,600 กล่องแคปซูลครอบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 100 แคปซูลเคาน์เตอร์สำหรับคัดกรองผู้ป่วย 500 ชุด เป็นต้น ในขณะที่สำนักงาน กศน. ผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า 4,620,000 ชิ้น พร้อมเจลแอลกอฮอล์อีกกว่า 1 ล้านขวด
จากการที่ ศธ.ได้นำการศึกษาทางไกล DLTV เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาดังกล่าว ส่งผลให้ช่วยลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2563 ศธ.ได้จัดสรรงบประมาณในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ DLTV และดำเนินการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 183 เขต งบประมาณจำนวน 20 ล้านบาท
พร้อมปรับปรุงการเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น คลังสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สพฐ. (OBEC Content Centre) ซึ่งปรับปรุงระบบให้รองรับการจัดเก็บและให้บริการเนื้อหามากที่สุด 8 ประเภท คือ e-Book แอปพลิเคชัน วีดิทัศน์ เสียง ภาพ ข้อสอบ เทมเพลต และแฟลชมัลติมีเดีย รองรับอุปกรณ์การใช้งานทุกระบบปฏิบัติการ จำนวน 15,174 รายการ และรอจัดทำรายละเอียดข้อมูล (Metadata) อีก 39,132 รายการ อยู่ในแผนนำเข้าได้จำนวน 31,617 รายการ อีกจำนวน 7,515 รายการ ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา
3. จัดตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ กระทรวงศึกษาธิการ (ศคพ.)
ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของ ศธ. เพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนนักศึกษา และบุคคลซึ่งปฏิบัติงานอื่นในสังกัดหรือในกำกับ ศธ. โดยมุ่งที่จะปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยความรวดเร็ว รอบคอบ เด็ดขาด ภายใต้มาตรการใหญ่ 3 ด้าน คือ
- มาตรการด้านการป้องกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับนักเรียนนักศึกษา โดยเน้นให้สถานศึกษาดูแลนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้ไม่เอื้อต่อการล่วงละเมิดทางเพศและการกระทำผิดอื่น ๆ
- มาตรการด้านการปราบปราม เพื่อแก้ไขปัญหา สะสางปัญหาเก่า ยุติปัญหาใหม่ โดยหากสถานศึกษาหรือหน่วยงานทางการศึกษาพบว่ามีข้อร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีการเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะในวงกว้าง ผู้มีอำนาจคือเขตพื้นที่การศึกษาต้องสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาย้ายไปประจำเป็นการชั่วคราว จากนั้นจึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงทันที และหากผลการตรวจสอบพบว่าข้อร้องเรียนนั้นมีมูลความจริง ให้ผู้มีอำนาจสั่งตั้งกรรมการวินัยร้ายแรงและให้ผู้กระทำผิดออกจากราชการไว้ก่อน ขั้นตอนทั้งหมดมีเป้าหมายให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง แล้วรายงานหน่วยงานตันสังกัดส่วนกลางและแจ้งข้อมูลมายัง ศคพ.เมื่อ ศคพ.ได้รับเรื่องแล้วจะรีบเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเพื่อขอให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของผู้กระทำผิดเป็นการชั่วคราว โดย ศคพ.ได้เร่งรัดให้มีการดำเนินการทางวินัยควบคู่กับการดำเนินการด้านคดีอาญาด้วย
- มาตรการด้านการคุ้มครองและช่วยเหลือ เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยานักเรียนนักศึกษาอย่างเป็นธรรม โดยกำหนดให้สถานศึกษาต้องประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแลเยียวยานักเรียนนักศึกษาผู้ถูกล่วงละเมิดอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที นอกจากนี้ยังต้องคุ้มครองผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศทุกคนให้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ไม่ละทิ้งให้เขาต้องอยู่ในสภาพยากลำบากโดยลำพัง และต้องประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนยุติธรรม เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือเยียวยานักเรียนนักศึกษาที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างรวดเร็ว
สำหรับนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศจากข้าราชการครูและบุคลากรในสังกัดหรือในกำกับ ศธ. หรือผู้พบปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน สามารถติดต่อร้องเรียนและร้องทุกข์ได้ที่ โทร. 02-007-0001 หรือสายด่วนการศึกษา 1579 email : [email protected] และเฟซบุ๊กเพจ : ศคพ.กระทรวงศึกษาธิการ หรือติดต่อได้ด้วยตัวเองที่ศูนย์ ศคพ. อาคารรัชมังคลาภิเษก 2 ชั้น 1 กระทรวงศึกษาธิการ
4. วางยุทธศาสตร์ระบบการศึกษายกกำลังสอง
ภายหลังผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ภายในประเทศช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ศธ.ได้แถลงต่อสาธารณะเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การศึกษายกกำลังสอง (Thailand Education Eco-System : TE2S) ซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ระบบการศึกษา กลไกการขับเคลื่อน และอุปสงค์อุปทาน ซึ่งจะช่วยให้ระบบการศึกษาไทยมีความคล่องตัว และสามารถปรับตัวได้ทันกับบริบทในศตวรรษที่ 21
โมเดลการศึกษายกกำลังสอง (Thailand Education Eco-System Model) จึงเกิดขึ้น ประกอบด้วย
- HCEC (Human Capital Excellence Center) หรือ ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นหน่วยพัฒนาทุนมนุษย์ (HR) ของประเทศ เพื่อตอบโจทย์อาชีพ อุตสาหกรรม และธุรกิจ
- DEEP (Digital Education Excellence Platform) หรือ แพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ เป็นหน่วยบริหารจัดการองค์ความรู้ (KM) ของประเทศ เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต
- EIDP (Excellence Individual Development Plan) หรือ แผนพัฒนารายบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาศักยภาพบุคคล (Human Potential : HP) เพื่อตอบโจทย์เส้นทางความสำเร็จของชีวิต
ความสำคัญอีกส่วนของการเปลี่ยนระบบการศึกษายกกำลังสอง ก็เพื่อนำไปสู่ “ระบบนิเวศ” ทางการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนนักเรียน ครู ห้องเรียน สื่อการเรียนรู้ และโรงเรียน เพื่อยกกำลังสองไปพร้อมกันทั้งระบบ คือ
- นักเรียนยกกำลังสอง จะต้องเปลี่ยนจากการเรียนเพื่อสอบ ไปสู่เรียนเพื่อรู้ ให้เด็กอยากที่จะเรียนรู้ เรียนเพื่ออยากเรียน มีการฝึกฝนเพื่อทำ สร้างทักษะอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ภาษาที่ 2-3 และยกระดับทักษะชีวิต สร้างความสามารถของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 เป็นต้น
- ครูยกกำลังสอง เมื่อต้องการให้เด็กเก่ง ก็ต้องมีระบบสร้างครูที่เก่ง มีระบบที่ให้คนเก่งเข้ามาเป็นครู ให้อาชีพครูเป็นอาชีพในฝัน #เก่งเป็นครู โดยออกแบบโมเดลอาชีพครูให้เป็นความใฝ่ฝันของนักเรียนนักศึกษา
- ห้องเรียนยกกำลังสอง จากการเรียนที่โรงเรียน ไปสู่การเรียนที่บ้านถามที่โรงเรียน (ห้องเรียนกลับด้าน) โดยให้ผู้เรียนหาความรู้ที่บ้าน เพิ่มความรู้เสริมทักษะที่โรงเรียน (ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้) ทำหลักสูตรให้ยืดหยุ่น
- สื่อการเรียนรู้ยกกำลังสอง เรียนจากตำรา สู่การเรียนผ่านสื่อแบบผสมผสาน (การเรียนรู้ออกแบบได้) เรียนที่ไหนก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์
- โรงเรียนยกกำลังสอง เน้นการประเมินโรงเรียนจากจำนวนนักเรียน ไปสู่คุณภาพ ตอบโจทย์ความรู้และทักษะที่เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ตามบริบท ความเป็นเลิศทางวิชาการ และความเป็นเลิศทางภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน
ทั้งนี้ ศธ.ให้โรงเรียนพิจารณาพัฒนาตามบริบทและศักยภาพของแต่ละแห่ง ไปสู่ความเป็นเลิศในแบบฉบับของตนเอง ไม่ว่าจะมีความเป็นเลิศด้านวิชาการ หรือด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน
5. ร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาทักษะผู้เรียนอาชีวะ
ศธ.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน ต่างประเทศ ในการวางแผนผลิตและพัฒนาผู้เรียนอาชีวศึกษาของไทย เช่น
- ICDL Thailand ซึ่งเป็นหน่วยจัดมาตรฐานระดับสมรรถนะด้านทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล วุฒิบัตร มาตรฐานสากลด้านทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ICDL (International Computer Driving License) เป็นวุฒิบัตรและหลักสูตรที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดําเนินงานโดย ICDL Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ไม่หวังผลกำไร ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการด้านดิจิทัลแห่งสหภาพยุโรป (European Union: EU) โดยจะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้ผู้บริหาร ครู นักเรียนนักศึกษา และ บุคลากรทางการศึกษาของ สอศ. ได้รับการพัฒนาและยกระดับทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้มาตรฐานสากล ด้วยวุฒิบัตรรับรองความสามารถด้านดิจิทัลตามมาตรฐานสากล ICDL รวมทั้งส่งเสริมให้มีการรับรองหลักสูตร และการจัดทำวุฒิบัตรร่วมกัน อีกทั้งการเพิ่มเติมหรือปรับปรุงหลักสูตร (เฉพาะกิจ) ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีปัจจุบัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาครู บุคลากรด้านการศึกษา และบัณฑิตอาชีวศึกษาพันธุ์ใหม่ ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ สอศ. จะนำมาตรฐานนี้มาเป็นระบบประเมินและรับรองทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของผู้บริหาร ครู นักเรียนนักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ให้เป็นกำลังคน 4.0 เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้จ้างงานว่าได้กำลังคนที่มีความสามารถทำงานระดับพรีเมี่ยม โดยบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี
- บริษัทถัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่นฯ โดยร่วมจัดการเรียนการสอนออนไลน์ภาษาจีน ระดับอาชีวศึกษา
- ตัวแทนผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจบริการการด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม เช่น Wrightman Corporation เจ้าของเครือข่าย Lenotre Paris, บริษัท Interpathเจ้าของหลักสูตร PIHMS (Pacific International Hotel Management School) ฯลฯ เพื่อเตรียมความพร้อมหลักสูตรการท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นการยกระดับกำลังคนอาชีวะในสาขาดังกล่าว
6. ปรับปรุงแนวทางบริหารงานบุคคล เพิ่มทักษะที่จำเป็น น้อมนำพระบรมราโชบาย ไว้ในหลักสูตรการพัฒนา
ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยกำหนดองค์ความรู้ สมรรถนะ และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะดิจิทัล และทักษะภาษาไทย ไว้ในหลักสูตรการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสายต่าง ๆ เช่น ศึกษาธิการจังหวัด รองศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษา
พร้อมทั้งน้อมนำพระบรมราโชบาย ในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้านการศึกษา 4 ด้าน ได้แก่ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม 3) มีงานทำ-อาชีพ 4) เป็นพลเมืองที่ดี ไปกำหนดเพิ่มเติมไว้ในหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ตำรงตำแหน่งฯ ตามหลักเกณฑ์ฯ ว2/2562 อีกด้วย
นอกจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาอัตราว่าง การขาดอัตรากำลังของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ.ได้กำหนดปฏิทินการดำเนินการสรรหาในปี 2563 ได้แก่
- ครูผู้ช่วย กรณีสอบแข่งขันบุคคลทั่วไป จำนวน 10,438 ตำแหน่ง
- ครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ จำนวน 4,428 ตำแหน่ง
- ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 40 ตำแหน่ง
- รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ว 3/2561) จำนวน 47 ตำแหน่ง
- ศึกษานิเทศก์ จำนวน 485 ตำแหน่ง
- รองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 4,647 ตำแหน่ง
- ข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 40 ตำแหน่ง
- บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน กรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ จำนวน 144 ตำแหน่ง
- บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งประเภททั่วไป เป็นประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ จำนวน 338 ตำแหน่ง
- บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน และตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติงาน จำนวน 435 ตำแหน่ง
ที่สำคัญในการสอบครูผู้ช่วย ปี 2563 ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการสอบคัดเลือก โดยข้อสอบภาค ก ให้มีเนื้อหาข้อสอบเหมือนกับข้อสอบของสำนักงาน ก.พ. และปี 2564 จะมอบให้สำนักงาน ก.พ.ดำเนินการจัดสอบ ส่วนภาค ข มีการสอบวิชาเอกและวิชาจริยธรรมความเป็นครูตามหลักสูตรของคุรุสภา และภาค ค ใช้เวลาสอบคนละ 40 นาที ทำ 3 กิจกรรม คือ สอบสัมภาษณ์ ตรวจประเมินแฟ้มสะสมผลงาน และประเมินสาธิตการสอน โดยจะมีการบันทึกวีดิทัศน์ไว้ด้วย ซึ่งหากมีการร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการให้คะแนนเกิดขึ้น ก็สามารถตรวจสอบได้
7. ปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค เร่งสร้างคุณภาพคนไทยในศตวรรษที่ 21
โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง วางฐานการดำเนินงานการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ในภูมิภาค 3 เรื่องที่สำคัญ คือ
- การกระจายอำนาจ ต้องการให้กระจายอำนาจไปยังภูมิภาค โดยส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนเป็นนิติบุคคลให้มากขึ้น ปัจจุบัน ศธ.มีหลายโรงเรียนที่สามารถบริหารจัดการได้ดี เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย อาจนำไปเป็นแนวทางดำเนินการได้ โดยเริ่มต้นการให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ต้องพิจารณาจากความพร้อม ซึ่งอาจจัดกลุ่มที่จะกระจายอำนาจตามบริบทของแต่ละโรงเรียน
- การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา ต้องมีความเข้มข้นในการพัฒนาก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง เพื่อวางฐานผู้ที่จะเป็นผู้บริหารสถานศึกษาให้มีความพร้อมก่อนการปฏิบัติงาน เพราะหาก ศธ.มีผู้บริหารที่ดี มีความสามารถ และเข้มแข็งในการบริหารงาน ก็จะส่งผลถึงคุณภาพของสถานศึกษาและการศึกษาอย่างแท้จริง
- การสร้างสุขลักษณะสุขอนามัยของโรงเรียนในภูมิภาค ต้องการให้ทุกสังกัดได้นำเรื่องนี้มาดำเนินการอย่างจริงจัง เช่น น้ำ ขยะ ส้วม ฯลฯ โรงเรียนจึงจำเป็นต้องเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย พร้อมทั้งการส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพที่ดี ตลอดระยะเวลาที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียน
8. โค้ดดิ้ง (Coding)
ทั้ง Unplug Coding สำหรับเด็กชั้นประถมศึกษา และ Coding สำหรับระดับชั้นที่สูงขึ้นไป ซึ่งเป็นการปฏิรูปการศึกษาถึงตัวผู้เรียนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกทั้งนี้การสอน Unplug Coding ถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทยที่มีการสอนเด็กในระดับปฐมวัย แต่ด้วยความร่วมมือของ สสวท. และ สพฐ. จึงเป็นการผลักดันให้ครูและโรงเรียนนำร่องทุกสังกัด จำนวน 350 แห่งพร้อมสอนได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562
นอกจากนี้ ได้จัดให้มีหลักสูตรอบรมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับครู (Coding for Teacher: C4T) ภายใต้นโยบาย การจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้งในโรงเรียน โดยได้เปิดอบรมตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563 โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าอบรมทั้งสิ้นกว่า 2 แสนราย ทั้งนี้ เพราะโค้ดดิ้งหรือภาษาคอมพิวเตอร์เป็นภาษาใหม่ที่เด็กไทยจะต้องเรียนรู้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์เสมอไปในการเรียนสำหรับเด็กชั้นอนุบาล ประถม หรือคนทั่วไปสามารถเรียน Unplug Coding ได้โดยไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์
สิ่งสำคัญของการเรียนโค้ดดิ้ง คือ ทุกคนจะได้ทักษะอย่างน้อย 6 ด้านคือ ทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน ทักษะในการคิดแบบสร้างสรรค์คิดวิเคราะห์ ทักษะในการคิดเชิงคณิตศาสตร์ ทักษะการมีเหตุผล และทักษะในการตัดสินใจแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน การมีทักษะทั้ง 6 ด้านนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาคนที่สมบูรณ์แบบ ทำให้สามารถแข่งขัน และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ในยุคดิจิทัล
9. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science Technology Innovation : STI)
ในอนาคต วิทยาการเหล่านี้จะมีบทบาทมากขึ้นไม่ว่าจะทำอาชีพใด ๆ เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม สาธารณสุข เป็นต้น นอกจากนี้ STI แปลเป็นไทยได้ว่า “สติ” เมื่อมีสติก็จะเกิดปัญญา โดยนำ STI มาใช้ในการพัฒนาทักษะการทำงานของเกษตรกร (Upskill & Reskill) เช่น การจัดฝึกอบรมวิชาชีพเกษตรระยะสั้นให้เกษตรกรและผู้สนใจ จำนวน 1,410 คน รายวิชาที่จัดฝึกอบรม ได้แก่ การปลูกผักปลอดสารพิษ การขยายพันธุ์พืช การเลี้ยงโคขุน การเพาะเลี้ยงกุ้งกราม การเลี้ยงปลาสวยงาม การตลาดออนไลน์ การจัดทำบรรจุภัณฑ์ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน การเรียนรู้การทำฟาร์มที่ใช้ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเป็น Digital Farmer เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท (อศ.กช.) โดยจัดการเรียนการสอนให้กับเกษตรกรและประชาชนที่สนใจวิชาชีพด้านเกษตรกรรม
10. อาชีวะเกษตร
ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศ การกำหนดนโยบายนี้จึงเป็นการปูพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับให้เป็น Digital Smart Farmer เช่น
- การบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้งานในฟาร์ม และการสร้างหลักสูตรรายวิชาเพื่อบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำภายในสถานศึกษาโดยการพัฒนาระบบจัดการน้ำพืชไร่ การปรับปรุงคลองส่งน้ำภายในสถานศึกษา การซ่อมแซมระบบส่งและจ่ายน้ำในงานฟาร์ม พืช สัตว์ ประมง การนำระบบพลังงานทดแทนมาใช้ในการพัฒนาระบบการสูบน้ำ การปรับปรุงระบบการจัดการน้ำหมุนเวียน การวางระบบน้ำและบริหารจัดการน้ำ
- การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าภายในสถานศึกษาประเภทวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จำนวน 15 แห่ง พันธุ์ไม้ที่ปลูกจำนวน 56,000 ต้น ได้แก่ ไม้มะฮอกกานี ไม้เต็ง ไม้รัง ยางนา สะเดา ประดู่ เป็นต้น
- การพัฒนาครูอาชีวศึกษาเกษตร (Train the Trainer) โดยมีการจัดทำแผนงานและพัฒนาหลักสูตรในการพัฒนาครูอาชีวศึกษาเกษตรให้มีความรู้การเกษตรสมัยใหม่ การใช้ภาษาอังกฤษ การใช้งานคอมพิวเตอร์ต่อการควบคุมการเกษตร และ Coding For Farm
นอกจากนี้ ได้เปิดตัวโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่จะใช้กลไกของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่ง ในการขับเคลื่อนโครงการ
11. การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย
ขณะนี้จัดทำออกมาแล้ว 1 เรื่อง คือ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากธนบัตร ซึ่งทำให้การเรียนประวัติศาสตร์เป็นไปด้วยความสนุกและน่าสนใจ และวางแผนพัฒนาเนื้อหาการเรียนรู้ผ่าน AI อีก 10 เรื่อง เพื่อเป็นนำมาใช้ต้นแบบให้ครูนำไปต่อยอดในการพัฒนาเนื้อหาการเรียนรู้ได้ต่อไป
ในปีที่สอง พร้อมจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วย 3 กลไกหลัก “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน”
- “ทันสมัย” โดยเฉพาะนโยบายเรื่องโค้ดดิ้ง (Coding) ที่ได้ออกแบบเนื้อหาหลักสูตรร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สนับสนุนเด็กไทยต้องได้เรียนโค้ดดิ้ง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาถึงตัวเด็กโดยตรง และได้มีการจัดอบรมครูออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อม โดยมีครูสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมกว่า 2 แสนคน เป็นการรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนการสอนโค้ดดิ้งที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ตามนิยามว่า “Coding ง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล Coding for All…All for Coding”
- “เท่าเทียม” การศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ผ่านการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลาย มีคุณภาพ และมีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ทำให้เด็กมีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุข
- “ยั่งยืน” ยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดทางเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร (Digital Agri College) โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน รวมถึงการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ผ่านหลักสูตร “ชลกร” โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำกิน น้ำใช้ และแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
12. ผลักดันการเพิ่มอัตราข้าราชการครู กศน.
แบ่งเป็นครูผู้ช่วยพื้นที่ทั่วไป 743 อัตราครูผู้ช่วยชายแดนใต้ 320 อัตรา ครูผู้ช่วยแบบสอบแข่งขัน 318 อัตราครูผู้ช่วยพื้นที่สูง 209 อัตรารวม 1,590 อัตรา โดยแบ่งสัดส่วนให้กลุ่มลูกจ้าง กศน.มีสิทธิ์สอบจำนวนร้อยละ 80 และเปิดบุคคลทั่วไป ร้อยละ 20 ส่วนที่ติดปัญหาเรื่องใบประกอบวิชาชีพครูนั้น ได้มีการหารือกับคุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งพร้อมที่จะช่วยครู กศน. โดยยกเว้นเรื่องใบประกอบวิชาชีพ 2 ปี
ดังนั้น ภายใน 2 ปีนี้ ข้าราชการครู กศน.ที่ได้รับการคัดเลือกบรรจุแต่งตั้ง ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพครูให้ได้ รวมทั้งสรรหาเป็นผู้บริหาร กศน. 140 อัตรา ทำให้สามารถขยับลูกจ้างขึ้นมาเป็นพนักงานราชการ และรับสมัครบุคคลภายนอกมาทดแทนอัตราจ้างที่ว่างลงให้ครบถ้วน
13. เรียนรู้ออนไลน์ผ่าน ONIE
โดยใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนเป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษา เรียนรู้ และสร้างอาชีพแก่กลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ผ่านแอปพลิเคชัน “ONIE Online” ส่งเสริมให้ใช้ Google Classroom และพัฒนาหลักสูตรพื้นฐานของ กศน.ให้มีความทันสมัยครบถ้วน หลักสูตรอาชีพที่มีความหลากหลาย ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ความต้องการและบริบทของแต่ละพื้นที่ และนำเทคโนโลยีมาขยายผลกับแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ของ กศน. ทั้งห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” 105 แห่ง และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 19 แห่งทั่วประเทศ
14. สร้างงานสร้างอาชีพต่อยอดผลิตภัณฑ์ กศน.พรีเมี่ยม
เน้นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ กศน.พรีเมี่ยม ทั้ง 231 รายการ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ OOCC สามารถสร้างรายได้แก่ประชาชนทุกชุมชน โดย ศธ.ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ พัฒนาไปสู่การจดอนุสิทธิบัตรในอนาคตอันใกล้ เพื่อรักษาภูมิปัญญาของคนไทยให้ยั่งยืน อาทิ ผ้าทอมือผักตบชวา กศน. ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
15. เพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลครูเอกชน
จาก 100,000 บาท/คน/ปี เป็น 150,000 บาท/คน/ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 นอกจากนี้ได้พัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของครูผู้ดูแลเด็กพิการ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม อาทิ มอบค่าตอบแทนพิเศษครูที่สอนนักเรียนพิการ (พ.ค.ก.) อุดหนุนสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาให้นักเรียน รวมไปถึงพัฒนาศักยภาพครูที่สอนนักเรียนพิการอีกด้วย
16. ปรับปรุงค่ายลูกเสือให้ทันสมัย ริเริ่มพัฒนาลูกเสือมัคคุเทศก์
- พัฒนาค่ายลูกเสือทั่วประเทศ 66 แห่งให้มีความทันสมัย นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยผลิตสื่อการเรียนรู้ การจัดแสดงนิทรรศการ แหล่งเรียนรู้ และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย รองรับการจัดกิจกรรมตามหลักสูตรจิตอาสา 904 สำหรับกระบวนการอบรมลูกเสือ และการอบรมลูกเสือมัคคุเทศก์ โดยได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 จำนวน 118 ล้านบาท ซึ่งนำไปขับเคลื่อนในค่ายลูกเสือจังหวัด 62 ค่าย และค่ายลูกเสือในกำกับ 4 ค่าย รวมทั้งพัฒนาให้มีความพร้อมสำหรับการใช้ประโยชน์ของคนทุกช่วงวัยในพื้นที่นั้นด้วย
- ริเริ่มพัฒนาโครงการฝึกอบรมลูกเสือมัคคุเทศก์ โดยในปี 2562 ได้จัดอบรมนำร่องรุ่นแรก 8 จังหวัด 480 คน และในเดือนสิงหาคม 2563 ได้จัดอบรมเพิ่มเติมในรุ่นที่ 2 อีก 69 จังหวัด รวม 4,140 คน ซึ่งได้น้อมนำหลักสูตรจิตอาสา 904 มาใช้ในการฝึกอบรม เพื่อสืบสานพระราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยต้องการให้ลูกเสือมีบทบาทในการเป็นมัคคุเทศก์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ปลูกฝังให้ลูกเสือเกิดความรัก ความภาคภูมิใจในคุณค่าของท้องถิ่นของตน มีความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยว พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทย และเป็นการส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาที่ 2 และ 3 ให้สามารถพัฒนาเป็นอาชีพในอนาคตได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังช่วยสร้างศักยภาพ ระเบียบวินัย และปลูกจิตอาสาให้กับเยาวชนไทยอีกด้วย
ขอขอบคุณที่มาเนื้อหา ศธ 360 องศา