สกสค.หาช่องเพิ่มสิทธิประโยชน์สมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส. หวังดึงครูรุ่นใหม่ สมัครสมาชิก

หวังดึงครูรุ่นใหม่ !!! สกสค.หาช่องเพิ่มสิทธิประโยชน์สมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส.
นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวว่า ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทองรมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) มีข้อห่วงใยเกี่ยวกับการดำเนินกิจการการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกรณีคู่สมรสถึงแก่ความตาย (ช.พ.ส.) ซึ่งโครงการดังกล่าวมีสมาชิกลดลง และมอบหมายให้ สกสค.จังหวัดจะต้องทำงานเชิงรุกเร่งประชาสัมพันธ์โครงการนี้ให้แก่ครูรุ่นใหม่ในพื้นที่ให้มากขึ้นนั้น ในเบื้องต้นตนได้สั่งการให้ ผอ.สกสค.จังหวัดดำเนินการประสานงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต่างๆ ทำการชี้แจงและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับช.พ.ค.และ ช.พ.ส. เพื่อให้สมาชิกเข้าใจว่า โครงการนี้เป็นไปในลักษณะครูช่วยครู เพราะเราเป็นเสมือนครอบครัวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตนก็เข้าใจครูที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ติดปัญหาเรื่องการเงิน เรื่องค่าสมาชิกที่สูง ซึ่งสกสค.ก็จะมีการหารือร่วมกัน เพื่อที่จะหาทางออกในเรื่องนี้ โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการ
“นอกจากการเร่งประชาสัมพันธ์แล้ว สกสค.จะหาแนวทางอื่นๆ ที่จะสามารถดึงครูรุ่นใหม่เข้ามาร่วมโครงการช.พ.ค.และ ช.พ.ส.ด้วย เช่น การเพิ่มสวัสดิการพิเศษในเรื่องต่างๆ เพราะผมมองว่าเมื่อครูเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการแล้ว ก็ควรที่จะได้รับอะไรที่พิเศษ หรือสิทธิต่างๆ เพิ่มขึ้นมา แต่ สกสค. ก็ยังคงดูแลสิทธิของครูทั่วไปด้วยไม่ได้ทิ้ง แต่สมาชิกจะต้องมีอะไรพิเศษกว่า เพราะหากดูแลอย่างเท่าเทียมกันก็จะไม่มีครูคนใดต้องการที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าจะมีการเพิ่มเติม หรือเสริมในเรื่องใดบ้าง และเรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ที่ สกสค.จะต้องเร่งศึกษา เพื่อนำเสนอให้ รมว.ศธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค.พิจารณา”ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่ครูรุ่นใหม่ไม่เข้าร่วมโครงการ ช.พ.ค.และ ช.พ.ส. เนื่องจากมองว่าไม่คุ้มค่านั้น นายพิเชฐ กล่าวว่า เนื่องจากโครงการนี้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 70 ปีแล้ว และในปัจจุบันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกันชีวิต ถือว่ามีความหลากหลายและการแข่งขันสูง ดังนั้น สกสค.จะต้องมีการปรับวิธีการดำเนินการให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่ สกสค.จะต้องดำเนินการ.
ขอบคุณเนื้อหาจาก At HeaR
เรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม แจ้งแนวทางการบริหารจัดการทุนการศึกษาต่อ ของนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) กลุ่มชั้นรอยต่อ ภาคเรียนที่ 2/2564