อัตราจ้าง ทางออกที่ถูกปิด โดย ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก

2494

อัตราจ้าง…ทางออกที่ถูกปิด
ผมมีโอกาสเห็นหนังสือฉบับหนึ่งของ สพฐ.แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)เมื่อ ๒๒ มกราคม ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการจัดสรรอัตราจ้างตำแหน่งต่างๆ(ครูขาดแคลนขั้นวิกฤติ,ทำงานที่ สพท.,ดูแลนักเรียนพักนอน,Lab boy,นักการภารโรงและธุรการโรงเรียน) อ่านแล้วรู้สึกเห็นใจน้องๆอัตราจ้างที่ต้องเปลี่ยนที่ทำงานตอนปลายปีการศึกษา อันเนื่องมาจากการเกลี่ยอัตรากำลัง หลายคนต้องทำงานให้โรงเรียนเก่าและต้องรับงานโรงเรียนใหม่ด้วยและยิ่งหดหู่หนักขึ้นไปอีก เมื่อเห็นการสั่งการว่า

๑. ถ้าอัตราว่างลงให้ส่งคืน สพฐ. ชะลอการสรรหาทดแทน
๒. ธุรการ ๑๕,๐๐๐ บาทถ้าว่างลงให้ปรับเป็น ๙,๐๐๐ บาท
๓. การจ้างจะไม่ผูกพันที่นำไปสู่การบรรจุให้เป็น ลูกจ้างประจำ,พนักงานราชการหรือข้าราชการ
๔. จะจ้างได้ก็ต่อเมื่อได้รับแจ้งเรื่องงบประมาณก่อน

คิดว่า สพฐ.คงมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณจึงได้ สั่งการแบบนี้ แต่หารู้ไม่ว่าการสั่งการดังกล่าวได้ทำลายขวัญกำลังใจ ความมุ่งมั่น ความตั้งใจของน้องอัตราจ้างที่จะยึดตำแหน่งครูสายสนับสนุนเป็นอาชีพระยะยาวไปจนหมดสิ้น จริงๆแล้วช่วงนี้นับเป็นโอกาสทองที่จะทำให้น้องอัตราจ้างเติบโต มั่นคงในอาชีพมากที่สุด เพราะทั้งเลขาธิการ กพฐ. ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.)และเลขาธิการ ก.ค.ศ.ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่เติบโตมาจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งสิ้น รู้สภาพ ชีวิตจิตใจคนของในพื้นที่เป็นอย่างดี ประกอบกับในทศวรรษนี้มีอัตราว่างจำนวนมากเนื่องจากการเกษียณอายุของข้าราชการและโรงเรียนส่วนหนึ่งถูกยุบไปเพราะไม่มีเด็กเข้าเรียน สิ่งที่ผมปรารถนาเป็นอย่างยิ่งก็คือ

– อยากเห็นโรงเรียนบริหารอัตรากำลังบุคลากรได้เอง ไม่ต้องรอ สพฐ. และ สพท.
– อยากเห็นธุรการ ๙,๐๐๐ บาท ปรับเป็น ธุรการ ๑๕,๐๐๐ บาท อัตราค่าจ้างปรับขึ้นเป็นรายปีตามประสบการณ์และค่าครองชีพที่เปลี่ยนไป
– อยากเห็น เมื่อเป็นอัตราจ้าง ๓ ปี ได้เป็นลูกจ้างประจำ ทำงาน ๕ ปีได้เป็นพนักงานราชการ และ ทำงาน ๗ ปีได้เป็นข้าราชการ
– อยากเห็นการทำสัญญาจ้างครั้งละ ๓ ปี ไม่ใช่ปีละ ๓ ครั้งเหมือนปัจจุบัน

สิ่งที่ผมอยากเห็นข้างต้นเป็นแนวทางการแก้ปัญหาเชิงพัฒนา แต่ที่ดำเนินการอยู่เป็นการตัดปัญหา ผู้บริหารที่บริหารแบบตัดปัญหาก็มักจะมีประโยคติดปากว่า ทำไม่ได้หรอกมันผิดระเบียบฯ (ก็ทำไมไม่ขอแก้ระเบียบฯหรือขอตกลงกับผู้รักษาการตามระเบียบฯ?) สิ่งที่ผมอยากเห็นอาจจะทำยากสักหน่อยนะและถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีกรอบคิดติดยึดหรือมโนมั่น(mindset) เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็จะยากขึ้นไปอีกที่จะสำเร็จ และผมเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า คำว่า “ทำยาก” กับ “ทำไม่ได้” นั้นมีความหมายต่างกัน น้องๆจำได้ไหมครับว่า พวกเราเคยร่วมกัน ทำให้ค่าจ้าง จาก ๙,๐๐๐ บาทเป็น ๑๕,๐๐๐ บาทมาแล้วเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนนี้ ผมยืนยันว่าทำได้ครับ ถ้าคิดจะทำ

ขอบคุณข้อมูลจาก : ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก