
เมื่อครูผู้สอนสะท้อนว่า “ไม่มีเวลาทำวิทยฐานะ มีแต่เวลาสอน ด้าน ก.ค.ศ. ว่าอย่างไร”
ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา, 062-7945366
ประธาน (เฟชกลุ่ม) “ศูนย์พัฒนาวิทยฐานะครูแห่งประเทศไทย”
บทนำ
ทันทีที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) โดยเลขาธิการ ก.ค.ศ. รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ได้ประกาศข่าวความคืบหน้าถึงมติที่ประชุม ก.ค.ศ. เมื่อ 25 มกราคม 2564 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามข้อตกลงพัฒนางาน (PA) ใหม่ว่า “ครูทุกคน จะต้องยื่น PA ต่อผู้อำนวยการโรงเรียน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564” และต่อมามีแผ่นภาพที่เผยแพร่สร้างความเข้าใจ โดย เพจ สำนักงาน ก.ค.ศ. ดังนี้

มีหลายเสียงสะท้อนของข้าราชการครูผ่านสื่อสารออนไลน์ เป็นต้นว่า “เปลี่ยนเกณฑ์ใหม่อีกแล้ว เกณฑ์เก่ายังไม่เข้าใจเลย” หรือ “เกณฑ์ใดๆ ก็ใช้การประเมินผ่านกระดาษ ไม่มีการดูของจริง” หรือ “ครูทำงานทุกวัน เกิดความเชี่ยวชาญทุกวัน เมื่อถึงเวลา ควรจะเลื่อนให้ไปเลย ไม่ต้องมีการประเมินให้เสียเวลา” หรือ “ไม่มีเวลาทำวิทยฐานะ มีแต่เวลาสอน” ซึ่งข้อคิดเห็นเหล่านี้ เชื่อว่าผู้มีอำนาจในระดับนโยบายได้รับรู้ เข้าใจ และพยายามแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดของข้าราชการครูอยู่แล้ว
แต่การบริหารงานบุคคล จำต้องยึดตัวบทกฎหมายที่กำหนด บทความสั้นนี้ ผู้เขียนพยายามประมวลข้อมูลความรู้ทั้งในแง่ข้อกฎหมาย และหลักวิชาการ เพื่ออธิบายความจากฐานข้อมูลของก.ค.ศ.ที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มพรมแดนความรู้ความเข้าใจให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยหลีกเลี่ยงที่จะใช้ความคิดเห็นในการอธิบาย ทั้งนี้ มิประสงค์จะให้เกิดข้อขัดแย้งทางความคิดขึ้น แต่ละท่านมีสิทธิ์ที่จะคิดเห็นแตกต่างกันได้
หนังสือ กำหนดวันเวลาปฏิบัติงานของข้าราชการครู
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการของสถานศึกษา พ.ศ. 2547 ลงวันที่ 30 กันยายน 2547
ข้อ 5 ให้สถานศึกษาเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 08.30 น.ถึง 16.30 น. หยุดกลางวัน เวลา 12.00 น. ถึง 13.00 น. เป็นเวลาทำงานตามปกติ โดยมีวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ คือ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ หยุดราชการเต็มวันทั้งสองวัน
สถานศึกษาใดมีความจำเป็นต้องกำหนดเวลาทำงาน หรือวันหยุดราชการประจำสัปดาห์นอกจากที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้สถานศึกษาเป็นผู้กำหนดและรายงานส่วนราชการต้นสังกัดทราบ ทั้งนี้ ต้องมีเวลาทำงานสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 35 ชั่วโมง

จากระเบียบดังกล่าว แปลความว่า ข้าราชการครูมีเวลาปฏิบัติงานวันละ 7 ชั่วโมง (ไม่รวมเวลาพักตอนเที่ยงวัน) สัปดาห์ละ 5 วัน รวมทั้งสิ้น ไม่น้อยกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์
หนังสือ กำหนดชั่วโมงปฏิบัติงานของข้าราชการครู
เมื่อ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะใหม่ ตาม ว.21ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 โดยกำหนดจำนวนชั่วโมงปฏิบัติงาน เป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในคุณสมบัติผู้ประสงค์จะขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ อีกทั้งใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับข้าราชการครูทั่วประเทศ ว่า จะต้องมี “จำนวนชั่วโมงปฏิบัติงาน” 4 รายการ ตามหนังสือที่ ศธ 0206.3/0635 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ดังนี้

สำหรับกรณีข้าราชการครูรายใด ประสงค์จะยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ ต้องมีชั่วโมงการปฏิบัติงานในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมง โดยชั่วโมงการปฏิบัติงาน ต้องมีชั่วโมงการมีส่วนร่วมในชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) ไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมง และต้องมีชั่วโมงสอนขั้นต่ำตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ส่วนครูเชี่ยวชาญหรือวิทยฐานะ ครูเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องมีชั่วโมงการปฏิบัติงานในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 900 ชั่วโมง โดยชั่วโมงการปฏิบัติงาน ต้องมีชั่วโมงการมีส่วนร่วมในชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) ไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมง และต้องมีชั่วโมงสอนขั้นต่ำตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด
เมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดเวลาปฏิบัติงานของข้าราชการครู ไม่น้อยกว่า สัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า จำนวนชั่วโมงปฏิบัติงาน ทั้ง 4 รายการ ตามหนังสือ ก.ค.ศ.ฉบับนี้ จะต้องมีชั่วโมงปฏิบัติงานรวมกัน ไม่น้อยกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์
หนังสือ กำหนดชั่วโมงสอนขั้นต่ำ
ตามหนังสือที่ ศธ 0206.3/0635 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2560 กำหนดชั่วโมงสอน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของรายการจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานของข้าราชการครู นั้น ดังต่อไปนี้

จากหนังสือสั่งการของ ก.ค.ศ. ดังกล่าว แปลความได้ว่า ข้าราชการครู มิใช่มีเพียง “ชั่วโมงปฏิบัติงาน” เป็นเพียง “ชั่วโมงสอน” เท่านั้น แต่ให้นับรวม ชั่วโมงสนับสนุนการเรียนรู้ ชั่วโมงการเข้าร่วมในชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และชั่วโมงการตอบสนองนโยบายและจุดเน้น รวมกันด้วย
ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ม.27 (1) ผู้บริหารสถานศึกษา มีอำนาจและหน้าที่บริหารงานบุคคลฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด เมื่อ ก.ค.ศ.กำหนดให้มี ว20,ว21,ว22, ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 หรือ หนังสือ ศธ 0206.3/0635 จึงต้องบริหารจัดการ “จำนวนชั่วโมงปฏิบัติงาน” ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด นั่นคือ เป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดว่า ข้าราชการครูรายใด จะให้มี “จำนวนชั่วโมงปฏิบัติงาน” ทั้ง 4 รายการ เป็นจำนวนเท่าใด แน่นอนว่า คงจะต้องปรากฏร่องรอยบนหลักฐานทางราชการได้
การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดเวลาไว้อย่างไร
อ้างถึง คำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สพฐ. 293/2551 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 เรื่อง ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยมีสาระสำคัญว่า ให้สถานศึกษาจัดเวลาเรียนพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งสถานศึกษาสามารถเพิ่มเติมได้ตามความพร้อมและจุดเน้น โดยสามารถปรับให้เหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษาและสภาพของผู้เรียน ดังแผนภาพ

โดยสรุปว่า ระดับประถมศึกษา กำหนดเวลาเรียน ไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมง ต่อปี ระดับมัธยมศึกษา ไม่น้อยกว่า 1,200 ต่อปี ซึ่งมีเวลาเรียนวันละไม่เกิน 5 ชั่วโมง สำหรับระดับประถมศึกษา และไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมง สำหรับมัธยมศึกษา
เมื่อกำหนดเวลาปฏิบัติราชการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการครูมีเวลาปฏิบัติงาน วันละ 7 ชั่วโมง หากกำหนดเวลาสอนทั้งวันๆ ละ 5 ชั่วโมง ก็จะมีเวลาสำหรับการปฏิบัติงานในอีก 3 รายการ วันละ 2 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง รวมเวลาปฏิบัติงานสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง จำนวน 40 สัปดาห์ รวมทั้งสิ้น 1,400 ชั่วโมง (สอน 1,000 + งานอื่น 400)
การประเมินเลื่อนเงินเดือน แบบ PA เป็นอย่างไร
ปัจจุบันข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติราชการ เพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (หนังสือ สนง.ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.7/ว.20 ลว. 30 ตุลาคม 2561) ในข้อ 7 ให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้รับการประเมิน ทั้งนี้ ให้พิจารณาจากข้อตกลงของส่วนราชการหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือหน่วยงานทางการศึกษา มาตรฐานและภาระงานขั้นต่ำที่ได้มีการจัดทำและกำหนดไว้
คำว่า “มาตรฐานและภาระงานขั้นต่ำ” ที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญในข้อตกลงในการพัฒนางาน เพื่อใช้ประเมินเลื่อนเงินเดือนนั้น จะต้องมาจาก “มาตรฐานตำแหน่งครู” ที่ ก.ค.ศ. กำหนด รวมความถึง จำนวนชั่วโมงปฏิบัติงานตามหนังสือ ก.ค.ศ. ด้วย
มาตรฐานตำแหน่ง ครู
ก.ค.ศ. ได้กำหนด มาตรฐานตำแหน่ง ครู ไว้ในหนังสือ ว.20/60 ไว้ว่า “มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมการเรียนรู้ บริหารจัดการชั้นเรียน พัฒนาผู้เรียน อบรมบ่มนิสัยให้ผู้เรียนมีวินัย คุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ปฏิบัติงานทางวิชาการของสถานศึกษา ประสานความร่วมมือกับผุ้ปกครอง บุคคลในชุมชน และหรือสถานประกอบการเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียน การบริการสังคมด้านวิชาการ พัฒนาตนเองและวิชาชีพ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย” ซึ่งมาตรฐานตำแหน่งนี้ นำมากำหนดเป็นตัวชี้วัดในการประเมินเลื่อนเงินเดือน ในแบบ 2 ได้แก่
ตอนที่ ๑ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย
1.ด้านการจัดการเรียนการสอน
1.1 การสร้างและหรือพัฒนาหลักสูตร
1.2 การจัดการเรียนรู้
1.2.1 การออกแบบหน่วยการเรียนรู้
1.2.2 การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้/แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล/แผนการสอนรายบุคคล/แผนการจัดประสบการณ์
1.2.3 กลยุทธ์ในการจัดการเรียนรู้
1.2.4 คุณภาพผู้เรียน
1.2.4.1 ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ
1.2.4.2 ผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์
1.3 การสร้างและการพัฒนาสื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยีทางการศึกษาและแหล่งเรียนรู้
1.4 การวัดและประเมินผลการเรียนรู้
1.5 ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ และหรือวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน
2.ด้านการบริหารจัดการชั้นเรียน
2.1 การบริหารจัดการชั้นเรียน และจัดทำข้อมูลสารสนเทศ
2.2 การจัดระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน
3.ด้านการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพ
3.1 การพัฒนาตนเอง
3.2 การพัฒนาวิชาชีพ
๔.งานอื่นที่ได้รับมอบหมาย
(หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ ๐๒๐๖.๗/ว20 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2561)
และเมื่อ ว.20/60 ถูกยกเลิกตามหนังสือ ว.3/2564 ลงวันที่ 26 มกราคม 2564 โดยกำหนดข้อความต่อไปนี้แทน “หน้าที่และความรับผิดชอบของครู มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งพัฒนาตนเองและวิชาชีพ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย” ดังแผนภาพ

มาตรฐานตำแหน่งครู ตาม ว.3/64 ซึ่งจะนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดในการประเมินเลื่อนเงินเดือน แทน ว.20/2560 และ ว.20/2561 ได้แก่
ด้านที่ 1 การจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย
1.1 สร้างและหรือพัฒนาหลักสูตร โดยจัดทำรายวิชาและหน่วยการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัด หรือผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร ให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะและการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ
1.2 ปฏิบัติการสอน โดยออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ คุณลักษณะประจำวิชา คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสมรรถนะที่สำคัญตามหลักสูตร
1.3 จัดกิจกรรมการเรียนรู้ อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และส่งเสริมผู้เรียน ได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ เรียนรู้ และทำงานร่วมกัน
1.4 สร้างและหรือพัฒนาสื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีทักษะการคิด และสามารถสร้างนวัตกรรมได้
1.5 วัดและประเมินผลการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เหมาะสม และสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ให้ผู้เรียนพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
1.6 ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ และหรือวิจัย เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ที่ส่งเสริมต่อคุณภาพผู้เรียน
1.7 จัดบรรยากาศที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียน ให้เกิดกระบวนการคิด ทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี
1.8 อบรมบ่มนิสัยให้ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และค่านิยมความเป็นไทยที่ดีงาม
ด้านที่ 2 การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย
2.1 จัดทำข้อมูลสารสนเทศของผู้เรียน และรายวิชา เพื่อใช้ในการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
2.2 ดำเนินการตามระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน โดยใช้แหล่งข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผู้เรียนรายบุคคล และประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาผู้เรียน
2.3 ร่วมปฏิบัติงานทางวิชาการ และงานอื่นๆ ของสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
2.4 ประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง ภาคีเครือข่าย และหรือสถานประกอบการเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียน
ด้านที่ 3 การพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ประกอบด้วย
3.1 พัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา สมรรถนะทางวิชาชีพครู ความรอบรู้ในเนื้อหาวิชาและวิธีการสอน
3.2 มีส่วนร่วม และเป็นผู้นำในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้
3.3 นำความรู้ ความสามารถ ทักษะที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพมาใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้
ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ เอกสารทางราชการ ใช้ประกอบการประเมิน ว.21
เมื่อหลักเกณฑ์และวิธีการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ตาม ว.21/2560 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอมีและเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น จะต้องมีคุณสมบัติ 5 ข้อ ดังนี้
1) มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งครูวิทยฐานะปัจจุบันมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ (วฐ.1)
2) มีชั่วโมงการปฏิบัติงานในตำแหน่งครู หรือตำแหน่งครูในวิทยฐานะที่ดำรงอยู่ปัจจุบันในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 5 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ ไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมงต่อปี สำหรับการขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และไม่น้อยกว่า 900 ชั่วโมงต่อปี สำหรับการขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญหรือเชี่ยวชาญพิเศษ
3) มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย หรือจรรยาบรรณวิชาชีพ ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 5 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ
4) ผ่านการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 5 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ
5) มีผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ สายงานการสอน ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 5 ปีการศึกษาติดต่อกัน นับถึงวันสิ้นปีการศึกษาก่อนวันที่ยื่นคำขอ ซึ่งได้มีการประเมินตามหลักเกณฑ์ ข้อ 5 และมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ตามหลักเกณฑ์ ข้อ 6 ไม่น้อยกว่า 3 ปีการศึกษา โดยพิจารณาจากข้อมูลที่บันทึกไว้ในแบบประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งครู รายปีการศึกษา (วฐ.2)
ดังนั้น เอกสารประกอบการอ้างอิงคุณสมบัติแต่ละข้อ จึงมีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งก็ต้องเป็นเอกสารทางราชการที่เจ้าพนักงาน (ผู้อำนวยการสถานศึกษา) จัดทำขึ้นหรือรับรองขึ้นในหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา ให้ใช้เป็นเอกสารอ้างอิงคุณสมบัติ ก่อนจะพิจารณาอนุมัติให้เลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้นได้
สำหรับคุณสมบัติข้อที่ 2 จำนวนชั่วโมงปฏิบัติงาน เอกสารที่ใช้ในการอ้างอิงการรับรองเป็นชั่วโมงปฏิบัติงาน เป็นเพียงเอกสาร เพื่อให้สามารถ “นับจำนวนชั่วโมงปฏิบัติงาน” ตามเงื่อนไขของการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ คือ 800-900 ชั่วโมง เท่านั้น มิใช่เอกสารอะไรมากมายที่ไม่เกี่ยวข้องการ “นับจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงาน” อย่างที่เข้าใจคาดเคลื่อนตามสื่อออนไลน์ต่างๆ ดังเช่น

บทสรุป
หลักเกณฑ์และวิธีการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ตาม ว.21/2560 มีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้ประสงค์จะขอมีและเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น ได้สั่งสมประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านการเรียนการสอน เพื่อแสดงถึงความชำนาญการและความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ มีการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาชีพครู และสามารถยกระดับคุณภาพครูให้มีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้ตามนโยบายการศึกษา
ซึ่งคำว่า “ประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน” ที่ครูจะต้องสะสม “ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ” อย่างสอดคล้องกันนั้น ดังแผนภาพที่ผู้เขียนได้อธิบายในภาพรวมทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ จะต้องวิเคราะห์แยกแยะให้ได้ว่า “เอกสารร่องรอยหลักฐาน” ที่ใช้อ้างอิงคุณสมบัติในเชิงปริมาณ คืออะไร เชิงคุณภาพ คืออะไร จะใช้เพื่อตัดสินอะไร มิฉะนั้น จะทำให้พี่น้องครูเกิดความสับสน นำความปะปนกัน และทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “การประเมินเลื่อนวิทยฐานะ” ใช้เอกสารเยอะแยะมากมาย ไม่เกิดประโยชน์

เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สำนักงาน. (2561) . หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผล
การปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา. หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.7/ว.20
ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2561.
คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สำนักงาน. (2562). การประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการ
ครูและบุคลากรทางการศึกษา. หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.7/ว.6 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2562.
คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สำนักงาน. (2564). INFO การประเมินวิทยฐานะครู
ช่วงเปลี่ยนผ่านจากเกณฑ์เก่าสู่ระบบ PA.
https://otepc.go.th/th/content_page/item/3265-pa.html
ราชกิจจานุเบกษา. (2547). พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547.
เล่ม 121/ตอนพิเศษ 79 ก/หน้า 22/23/23 ธันวาคม 2547.
ศึกษาธิการ, กระทรวง. (2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. 254 หน้า.
ประวัติ ผู้เขียนบทความ – ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา, โทร.062-7945366
ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรี (การประถม) มข., ปริญญาตรี (นิติศาสตร์), ปริญญาโท (การวิจัยและประเมินผลการศึกษา), ปริญญาเอก (ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค)
ประสบการณ์วิทยากร ด้านวิทยฐานะ 2538-40 (อ.2/7), 2540-47 (อ.3/8) 2547-50 (คศ.3เชิงประจักษ์), 2550-53 (คศ.3 ว.17), 2554-55 (คศ.3-4 ก่อนแต่งตั้ง) 2556-57 (เยียวยาคศ.4/ว.17), 2558 (ว.7/58 ว.PA), 2560-2563 (ว.21/ว.23 ทั่วประเทศ) 2564 -ว.PA64 (ทั่วประเทศ)
ประธานหลักสูตรอบรมครูที่สถาบันคุรุพัฒนาอนุมัติ 73 หลักสูตร ปี 2561-2564 ทั้งพบปะ + ออนไลน์ หน่วยพัฒนา หจก.เพื่อครู
ครูอัพเดตดอทคอม ขอขอบคุณบทความจาก ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา