
แบบทดสอบความรู้ด้านการวิจัยทางการศึกษา
โรงเรียนบ้านหนองหิน สพป.กจ.1
*** เปิดให้ทำแบบทดสอบ 12.00 ของทุกวัน จำกัดจำนวน ***
ความหมายของการวิจัย
กระบวน การหาความรู้ความจริงใหม่ ที่มีระบบแบบแผนตามหลักวิชา อาศัยหลักเหตุผล ที่รอบคอบ รัดกุม ละเอียดและเชื่อถือได้ และความรู้ความจริงนั้นจะนำไปเป็นหลักการ ทฤษฎี หรือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ได้รับรู้และนำไปใช้เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตด้วย ความสงบสุขหรือป้องกันและหลีกเลี่ยงภัยอันตรายต่าง ๆ ได้
กระบวนการการวิจัย
1. เลือกหัวข้อและกำหนดขอบเขตปัญหาการวิจัย
2. การทบทวนวรรณกรรม การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
3. การออกแบบการวิจัย
4. การเขียนเค้าโครงการวิจัย
5. การสร้างเครื่องมือและตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ
6. การเก็บรวบรวมข้อมูล
7. การแปรผลและวิเคราะห์ข้อมูล
8. การเขียนรายงานการวิจัย
วิธีการรวบรวมข้อมูลที่นิยมใช้ในการวิจัยทางการศึกษา
1. การใช้แบบทดสอบ
- การใช้แบบวัดเจตคติ
- การใช้แบบสอบถาม
- การสัมภาษณ์
- การสังเกต
- การใช้เทคนิคสังคมมิติ
- การทดลอง
สถิติเพื่อการวิจัย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) หมายถึง การบรรยายลักษณะของข้อมูล (Data) ที่ผู้วิจัยเก็บรวบรวมจากประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างที่สนใจ
2.สถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) หมาย ถึง สถิติที่ว่าด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาจากกลุ่มตัวอย่าง เพื่ออธิบายสรุปลักษณะบางประการของประชากร โดยมีการนำทฤษฎีความน่าจะเป็นมาประยุกต์ใช้
ข้อมูล (Data) หมายถึง ข้อมูลหรือตัวเลขที่แสดงคุณสมบัติที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา เช่น อายุ รายได้ ยอดขาย เป็นต้น
กระบวนการทางสถิติ
1. การวางแผน (Planning) ในขั้นตอนนี้ต้องกำหนดว่าจะกำหนดวิธีการสำรวจอย่างไรจะใช้อะไรเป็นข้อมูล ประกอบการพิจารณาบ้าง ถ้ามีข้อมูลเกี่ยวกับคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็ต้องกำหนดว่าจะกำหนดให้ผู้คนประเภทใดบ้างที่จะไปสอบถามรายละเอียด จะใช้จำนวนเท่าใดจึงจะพอดีที่จะต้องใช้ในขั้นตอนนี้ทั้งหมด รวมถึงวิธีการรวบรวมข้อมูล และกำหนดวิธีการทดสอบข้อมูลด้วย
2. การเก็บรวบรวมข้อมูล (Collection of Data) เมื่อกำหนดในขั้นตอนที่ 1 แล้วว่าจะนำอะไรมาเป็นข้อมูลก็จะทำการรวบรวมตามวิธีทางสถิติซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
3. การนำเสนอข้อมูล (Presentation of Data) เมื่อรวบรวมได้แล้วก็จะนำมาแสดงให้คนเข้าใจ ซึ่งอาจจะแสดงในรูปตารางสถิติ เป็นรูปภาพ หรือเป็นแบบเส้นโค้ง ฯลฯ
4. การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of Data) เมื่อ ได้ข้อมูลตามต้องการแล้วก็จะนำมาวิเคราะห์ ซึ่งอาจอยู่ในรูป ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าสัดส่วน หรือค่าใด ๆ ตามแต่จะกำหนดไว้ในขั้นตอนที่ 1
5. การตีความ (Interpretation of Data) เป็นขั้นตอนสุดท้าย คือ การสรุปผลการวิเคราะห์ในขั้นตอนที่ 4 รวมถึงการนำเอาผลที่ได้ไปอ้างอิงใช้กับส่วนอื่นด้วย
การวิจัยในชั้นเรียน
ความสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียน
การ วิจัยในชั้นเรียนมีความสำคัญต่อวงการวิชาชีพครูเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากครูจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน การจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเรียน การพัฒนาพฤติกรรมผู้เรียน การเพิ่มสัมฤทธิผลการเรียน และการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความหมายของการวิจัยในชั้นเรียน
การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Action Research) หมายถึงการสืบสอบเชิงธรรมชาติ (Natural Inquiry) จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอน การเรียนรู้หรือพฤติกรรมผู้เรียนโดยที่ครูเป็นผู้วิจัยในสิ่งที่ครูปฏิบัติ อยู่ มีผู้เรียน ผู้บริหารหรือ ครูในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการวิจัยด้วย
การ วิจัยในชั้นเรียนจึงเป็นการสืบสอบเชิงธรรมชาติที่ต้องใช้ความคิดวิเคราะห์ ที่ละเอียดถี่ถ้วนขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระของวิชา การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน มีจุดเน้นที่หลากหลายเชื่อมโยงกัน และเป็นรูปธรรม
ลักษณะสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียน
1. ครูเป็นผู้วิจัยเอง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก่วงการวิชาชีพครู
2. ผลการวิจัยสามารถแก้ปัญหาผู้เรียนได้ทันเวลา และตรงจุด
3. การวิจัยช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างทฤษฏีและการปฏิบัติ
4. การเพิ่มศักยภาพการคิดสะท้อน (Reflective Thinking) ของครูต่อปัญหาที่เกิดในห้องเรียน
5. การเพิ่มพลังความเป็นครูในวงการการศึกษา
6. การเปิดโอกาสให้ครูก้าวหน้าทางวิชาการ
7. การพัฒนา และทดสอบการแก้ปัญหาในชั้นเรียน
8. การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเรื่องการเรียนการสอน และทางแก้ปัญหา
9. การนำเสนอข้อค้นพบและการรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มครู
10. การวิจัยและพัฒนาเป็นวงจร (Cycle) เพื่อทำให้ข้อค้นพบสมบูรณ์ขึ้น
ข้อมูลจาก โรงเรียนมุสลีมีนศึกษา
เข้าทำแบบทดสอบ |
ตัวอย่างเกียรติบัตร
