โรคซึมเศร้า คือ อะไร ? มี แบบวัดภาวะซึมเศร้า  พร้อมแนะ 7 วิธีป้องกัน โรคซึมเศร้า 

3062

โรคซึมเศร้า คือ อะไร ?
มี แบบวัดภาวะซึมเศร้า  พร้อมแนะ 7 วิธีป้องกัน โรคซึมเศร้า

 

สวัสดีครับ  ครูอัพเดตดอทคอม  มีสาระดีๆเกี่ยวกับสุขภาพ  มาฝากครับ  หลายต่อหลายครั้งที่คนรอบข้างนั้นกล่าวถึง
“โรคซึมเศร้า”   หรือแม้แต่ตามสื่อ  ออนไลน์  โทรทัศน์  ก็กล่าวถึง โรคนี้บ่อยครั้ง  แอดมิน  เลยหาคำตอบมาฝากครับ
ว่าโรคนี้เป็นอย่างไร   และเราจะสังเกตอาการของโรคจากสิ่งใดได้บ้าง  รวมถึงมี แบบวัดภาวะซึมเศร้า มาฝากด้วยครับ
เชิญทุกท่านติดตามได้เลยครับ

โรคซึมเศร้า คือ อะไร ? มี แบบวัดภาวะซึมเศร้า  พร้อมแนะ 7 วิธีป้องกัน โรคซึมเศร้า 
โรคซึมเศร้า คือ อะไร ? มี แบบวัดภาวะซึมเศร้า  พร้อมแนะ 7 วิธีป้องกัน โรคซึมเศร้า 

อ.พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายไว้ว่า โรคซึมเศร้า คือ โรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีอารณ์เศร้า หรือเบื่อหน่ายมากกว่าและนานกว่าปกติ โดยมักเป็นทุกวัน ระยะเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์

อารมณ์ดังกล่าวส่งผลถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การไม่สนใจทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยสนใจ, รับประทานอาหารน้อยลง, นอนไม่หลับ, รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย, ไม่มีสมาธิ, รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี, ความมั่นใจน้อยลง, มองสิ่งรอบตัวในแง่ลบ และอาการรุนแรง คือ มีความคิดอยากตาย

สาเหตุของโรคซึมเศร้า  มักเกิดจาก ด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ เช่น สารเคมีในสมองไม่สมดุล การเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายบางอย่าง การใช้สารเสพติดหรือยาบางประเภท ก็ทำให้มีอาการของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

ส่วนด้านจิตใจ เช่น ทักษะการปรับตัวต่อปัญหา การจัดการความเครียด และบุคลิกภาพ นอกจากนี้ คือ ปัจจัยด้านสังคม เช่น มีการสูญเสีย คนใกล้ตัวมีความเครียด หรือมีความเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น

โรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคร้ายแรง ไม่ได้แปลว่าเป็นคนโรคจิตหรือมีอาการทางจิต เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยาปรับสารเคมีในสมอง ส่วนด้านจิตใจ ควรมีการพูดคุยกับคนใกล้ตัว การมองหาความช่วยเหลือ หรือหนทางในการแก้ปัญหาใหม่ๆ ควรดึงครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม

แบบวัดภาวะซึมเศร้า
ท่านสามารถกดเข้าไปทำ แบบสอบภาวะซึมเศร้า จากทาง  คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลรามาธิบดี
ได้ที่นี่ med.mahidol depression_risk

– รู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด กังวลใจ ไม่สบายใจ

– ขาดความสนใจต่อสิ่งที่เคยชอบในอดีต

– น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนไป

– นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ

– รู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า

– ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง

– คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย

ถ้าหากคุณมีอาการเช่นนี้หลายข้อ และมีอาการเหล่านี้มานานมากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็น “โรคซึมเศร้า”

 

7 วิธีป้องกัน “โรคซึมเศร้า” มีดังนี้

1. ฝึกยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวเอง

ฝึกสำรวจตัวเอง เรียนรู้ รู้จักตัวเองมากขึ้น และฝึกยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น ทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อที่จะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้ผิดหวังเสียใจได้ รู้จักขอบคุณตัวเองและแสดงความภาคภูมิใจในตัวเองอยู่เสมอ เมื่อได้ลงมือทำในสิ่งที่ดี ชีวิตมีขึ้นมีลง แค่รับมือกับมันได้ตัวคุณก็จะเบาสบายขึ้น

 

2. หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส

เมื่อรู้สึกทุกข์ ควรพาตัวเองอยู่กับสิ่งที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน เช่น ดูภาพยนตร์ตลก หรืออ่านเรื่องขำขัน หรือพูดคุยกับเพื่อนๆ ในเรื่องขบขันสนุกสนาน เพื่อช่วยคลายเครียด ช่วยคลายความทุกข์ในใจได้ดีทีเดียว

 

3. ระบายความรู้สึกออกมาบ้าง

ควรเรียนรู้ที่จะหาวิธีปลดปล่อยความรู้สึกเศร้า โกรธ ผิดหวัง หรือเสียใจออกมา เพราะอาการซึมเศร้ามักเกิดจากการเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไว้ เราทำได้โดยการพูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ ตะโกน หรือร้องไห้ออกมาดังๆ หรือเขียนความรู้สึกลงในสมุดบันทึก

 

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายช่วยต้าน “โรคซึมเศร้า” ได้ เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับสารเคมี “เซโรโทนิน” ในสมอง รวมถึงเพิ่มการหลั่งสารเอนดอร์ฟีนที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายและอารมณ์ดีขึ้น แถมยังช่วยให้สุขภาพด้านอื่นๆ ดีขึ้นด้วย

5. ออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆบ้าง

รู้หรือไม่? การเดินทางท่องเที่ยวถือเป็น “ยาดี” สำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้า เพราะเป็นการหนีห่างจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่าย เศร้า เบื่อ ฯลฯ เปลี่ยนไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่สดใส มีพลังมากขึ้น ได้พบเห็นสิ่งใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด และคลายความเศร้าได้ดีเช่นกัน

 

6. ทำงานอดิเรกที่สนใจ

หากมีเรื่องเครียดๆ หรือเรื่องที่ทำให้เศร้าอยู่นาน ต้องพยายามสะบัดความรู้สึกเหล่านั้นออกไป แล้วไปหาอะไรทำที่สร้างสรรค์ ฝึกสมาธิ อย่างการทำงานอดิเรกก็ช่วยได้นะ เช่น ปลูกต้นไม้ วาดรูป ระบายสี ทำอาหาร เย็บปักถักร้อย เป็นต้น

 

7. ฝึกคิดบวกเข้าไว้

การมองโลกในแง่ดี ช่วยลดความวิตกกังวลได้จริง โดยอาจจะเริ่มจากฝึกคิดในมุมบวก ฝึกมองเรื่องต่างๆ รอบตัวในมุมบวก ฝึกมองผู้อื่นในแง่ดี และรู้จักชื่นชมคนอื่น หากทำได้จะเป็นการเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตของคุณได้มากขึ้นแน่นอน และอย่าลืมว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก อย่าลืมครอบครัวและเพื่อนฝูง คุณสามารถเปิดใจและพูดคุยกับพวกเขาได้ตลอดเวลา

 

เรียบเรียง  ครูอัพเดตดอทคอม
อ้างอิงจาก
กรมสุขภาพจิต

 

พบเห็นไฟล์หรือเนื้อหาที่ไม่สามารถดาวน์โหลดหรือเปิดได้ หรือไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งเราได้ที่ : https://www.facebook.com/krooupdatedotcom/