สวัสดีครับวันนี้เว็บไซต์ครูอัพเดตดอทคอม มีเรื่องราวเกี่ยวกับ จดหมายเปิดผนึก ถึง รมว.ศธ. ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และผลกระทบ หากยกเลิกโครงการพัฒนาครูแบบครบวงจร ไม่มีงบคูปองครู แล้วสร้างเกณฑ์บังคับทำไม? โดยมีรายละเอียดดังนี้
เรื่อง การพิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และผลกระทบ หากยกเลิกโครงการพัฒนาครูแบบครบวงจร
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ด้วยปรากฏความล่าช้าในการดำเนินการโครงการพัฒนาครูแบบครบวงจร ในปีงบประมาณ 2562 ประกอบกับกระแสข่าวเชิงลบต่างๆ นานา อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจยกเลิก แต่ก็ชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่ ฯพณฯ ท่าน พร้อมจะรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อโครงการดังกล่าว และด้วยเหตุว่า การขับเคลื่อนประเทศ หรือการตัดสินใจในเชิงการบริหารใดๆ ไม่อาจจะยึดเอาความรู้สึก หรือความคิดเห็นที่ไม่ยึดโยงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้ จึงขออนุญาตกราบเรียนข้อพิจารณา ข้อกฎหมาย และผลกระทบ หากยกเลิกโครงการนี้ ดังนี้

ข้อพิจารณาด้านที่ 1 ผลกระทบต่อผู้เรียน
1.1 บทสรุปจากการถอดบทเรียนเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั่วโลก ยอมรับได้ดังคำกล่าวที่ว่า “ปลาไม่อาจลอยขึ้นเหนือน้ำได้ ฉันใด คุณภาพการศึกษา ไม่อาจสูงไปกว่าคุณภาพของครูได้ ฉันนั้น” และคุณภาพของครู ก็ไม่อาจเกิดขึ้นเองได้ตามลำพัง หากไม่มีการพัฒนาครูที่เป็นระบบและต่อเนื่อง นับตั้งแต่เป็นกระทรวงศึกษาธิการเป็นต้นมา การพัฒนาครูไม่เป็นระบบ ไม่ต่อเนื่อง ไม่ส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ไม่เป็นไปตามที่ครูต้องการเท่าที่ควรจะเป็น เป็นการพัฒนาแบบเหมาเข่ง จึงปรากฏว่า วิชาการต่างๆ ไม่เกิดการพัฒนาอย่างหลากหลาย และก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก อดีตรัฐมนตรีว่าการฯ จึงตัดสินใจใช้ ระบบตลาดวิชา เข้ามาพัฒนาเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการพัฒนาวิชาการใหม่ๆ
1.2 ปรากฎการณ์ที่เห็นได้ทั่วไปโดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลสถิติใดๆมาประกอบการพิจารณาก็พบว่า โรงเรียนที่มีความพร้อมในด้านทรัพยากรการบริหารจัดการ ย่อมมีโอกาสจัดการศึกษาได้ดี มีคุณภาพมากกว่าโรงเรียนที่ขาดแคลน ซึ่งมักจะอยู่ตามชนบทห่างไกล ทำให้นักเรียนที่ขาดแคลนในชนบท ไม่อาจเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพจากโรงเรียนที่มีความพร้อมมากกว่าได้ จำเป็นต้องรับบริการทางการศึกษาจากในโรงเรียนที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรในชนบทเช่นนั้น หากไม่มีการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะรอบด้าน ที่สามารถจัดการศึกษาได้ครบถ้วนตามหลักสูตรท่ามกลางข้อจำกัดเช่นนั้น นักเรียนก็จะขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาครบถ้วนตามหลักสูตรได้ กลายเป็นปมด้อยตลอดชีวิต
1.3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 ให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง โรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก มีจำนวนมากที่ครูไม่ครบชั้น จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและอาศัยสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายของครู จึงจะอยู่รอดได้ ฯลฯ หากครูไม่ได้รับการพัฒนาสมรรถนะรอบด้าน คุณภาพผู้เรียนไม่อาจจะเป็นจริงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้
1.4 แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ (3Rs8Cs) กำหนดยุทธศาสตร์ให้ครูได้รับการพัฒนาสมรรถนะตามมาตรฐานวิชาชีพและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งออกตามความในมาตรา 54 จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาอย่างยิ่ง ถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่ทุกคนจะต้องยึดถือโดยเฉพาะผู้บริหารประเทศ
1.5 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นกฎหมายสำคัญ ออกตามความในมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คาดหวังเยาวชนไทย มีความสามารถในการแข่งขันในเวทีสากลได้ มีความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 ได้ และยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ (กระทรวงศึกษาธิการ) ดำเนินภารกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ หากไม่แล้ว คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอาจจะให้ชี้แจงได้ เป้าหมายในการพัฒนาคนตามยุทธศาสตร์ชาติ จะบรรลุได้อย่างไร ในเมื่อสมรรถนะครูยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สามารถจัดการศึกษาได้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว
1.6 ความรู้ใดๆ อาจแสวงหาได้ในโลกกว้างสมัยใหม่ แต่ความเป็นคนต้องสร้างด้วยมือครู เท่านั้น
มาตรา 258 จ ( ๓) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับ ความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู
ในการบริหารงานบุคคลภาครัฐ งานพัฒนาบุคคล เป็นงานสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จขององค์กร ไม่มีองค์กรความเป็นเลิศใดในโลกที่ปราศจากระบบการพัฒนาบุคคลที่อ่อนแอ
ข้อพิจารณาด้านที่ 2 ผลกระทบต่อครู
2.1 เมื่อ ก.ค.ศ.กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ ใน ว 20/2560 ลว.5 กค 60 โดยกำหนดให้ครูมีการพัฒนาตนเอง และพัฒนาวิชาชีพ ทั้งในมาตรฐานตำแหน่ง และในมาตรฐานวิทยฐานะ คำว่า “การพัฒนาตนเอง” หมายถึง การพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ใน ว22/2560 ลว 5 กค 60 ซึ่งหมายถึง การอบรมครูคูปอง นั่นเอง หากยกเลิกการอุดหนุนครูให้เข้ารับการอบรม ครูก็จะไม่ได้เข้ารับการอบรม ก็เท่ากับว่า การปฏิบัติงานของครูไม่เป็นไปตามมาตรฐานตำแหน่งที่กำหนด และไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิทยฐานะที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงขาดคุณสมบัติที่จะขอเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ฯ ว.21/2560 ในอนาคตด้วย ในเมื่อครูทุกคนไม่อาจจะรักษามาตรฐานตำแหน่งของตนไว้ได้ ในเมื่อครูที่มีวิทยฐานะทุกวิทยฐานะในปัจจุบัน ไม่อาจจะรักษามาตรฐานวิทยฐานะของตนไว้ได้ จึงเป็นการดำเนินการไม่เป็นตามที่กฎหมายกำหนด กระทรวงศึกษาธิการจะแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้ด้วยวิธีใด
2.2 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดไว้ใน มาตรา 79 ให้ผู้บังคับบัญชาพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพฯ….ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ซึ่งจาก ปี 2547 ถึง ปี 2560 เป็นเวลา 14 ปี ก.ค.ศ. ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาครู ใดๆ ออกมา ทำให้ครูขาดโอกาสได้รับการพัฒนา พอจะถือได้ว่า ก.ค.ศ.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย จากการที่ประชาชนจะได้รับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอันเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงมาจากผลของการพัฒนาครูตามกฎหมายดังกล่าว
ในเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) ในฐานประธานคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาครู สายงานการสอน หรือ ว.22/2560 ขึ้น ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 นั้น ระบบการพัฒนาครู จึงมีผลผูกพันทางกฎหมาย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หากไม่อุดหนุนเงินให้ครูเข้ารับการอบรม ก็เท่ากับว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด เมื่อกระทรวงศึกษาธิการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการฯ บังคับให้ครูเข้ารับการพัฒนา (คูปองครู) ถ้าไม่ให้เงินอุดหนุนเข้ารับการอบรม จะสร้างความเสียหายแก่ข้าราชการครูแค่ไหน และจะแสดงความรับผิดชอบด้วยวิธีการใด
2.3 ครูที่สะสมคุณสมบัติที่จะมีโอกาสได้ขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ฯ ว.21/2560 โดยสะสมชั่วโมงการพัฒนาตาม ว.22/2560 (อบรมคูปอง) ในปี 2560-2561 มา 2 ปีก่อนแล้ว ปีละ 12-20 ชั่วโมง ก็จะขาดโอกาสสะสมชั่วโมงอบรมต่อเนื่องในปี 2562 นี้ ซึ่งก็จะทำขาดคุณสมบัติจะขอเลื่อนวิทยฐานะ เพราะการอบรม จะต้องอบรมต่อเนื่องทุกปี ตลอดระยะเวลา 5 ปี นี้ นอกเสียจากครูจะต้องเริ่มต้นสะสมชั่วโมงการพัฒนาใหม่ หรือเสียสละเงินส่วนตัวเข้ารับการอบรมเอง กระทรวงศึกษาธิการ จะแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างไร ความเสียหายเกิดขึ้นกับครูเป็นการเฉพาะตัว หรือว่าท่านผู้มีอำนาจเองก็หวังลึกๆ อยู่ว่า ไม่อยากจะให้ครูมีวิทยฐานะสูงขึ้น เพราะเป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศ กระนั้นหรือ ในเมื่อออกหลักเกณฑ์และวิธีการฯ บังคับครูให้เข้าอบรมจึงจะมีสิทธิ์ขอเลื่อนวิทยฐานะ ก็ต้องสนับสนุนงบประมาณด้วย มิฉะนั้น จะบังคับครูได้อย่างไร
2.4 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดไว้ใน มาตรา 80 ก่อนจะแต่งตั้งครูให้มีวิทยฐานะใด จะต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรก่อนแต่งตั้งเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้ ผู้จะขอเลื่อนวิทยฐานะใดๆ ได้ จะต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรแบบ 5 วัน มีสถาบันอุดมศึกษาทำหน้าที่ โดยครูเสียสละเงินงบประมาณส่วนตัว รายละประมาณ 5 พันบาท มีอายุวุฒิบัตร 2 ปี ถ้าพ้นกำหนดจะต้องเข้ารับการอบรมใหม่ แต่หลักเกณฑ์ฯ การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ว.21/2560 ยกประโยชน์ให้ครูที่สะสมชั่วโมงอบรมหลักสูตรคูปองครู ไม่ต้องเข้ารับการอบรมตาม ม.80 อีก เท่ากับว่าผลประโยชน์เกิดเฉพาะตัวกับครูอย่างยิ่ง
ข้อพิจารณาด้านที่ 3 ผลกระทบต่อวิชาชีพครู
3.1 พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กำหนดวิชาชีพครู เป็นวิชาชีพควบคุม หรือวิชาชีพชั้นสูง โดยหลักการแล้ว วิชาชีพซึ่งจะได้รับยกย่องให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ผู้ประกอบวิชาชีพย่อมต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูงตามมา เพราะมีผลกระทบต่อผู้รับบริการและสาธารณชน จึงต้องมีการควบคุมการประกอบวิชาชีพเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้รับบริการและสาธารณชน ผู้ประกอบวิชาชีพต้องประกอบวิชาชีพด้วย วิธีการแห่งปัญญา (Intellectual Method) อบรมมาอย่างเพียงพอ (Long Period of Training) มีมาตรฐานวิชาชีพ (Professional Autonomy) มีจรรยาบรรณของวิชาชีพ (Professional Ethics) มีสถาบันวิชาชีพ (Professional Institution) มีองค์กรวิชาชีพ (Professional Organization)
หากครู ไม่ได้รับการพัฒนาวิชาชีพ จะยังธำรงสถานะความเป็นวิชาชีพชั้นสูงได้อย่างไร ในเมื่อไม่เข้ากรณี เป็น “วิชาชีพชั้นสูง” ได้ ก็อาจขัดกับหลักการให้ประโยชน์ค่าตอบแทนวิทยฐานะได้
3.2 คุรุสภา มีภารกิจหลักสำคัญประการหนึ่งตามพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ก็คือ การพัฒนาวิชาชีพครู ตามมาตรา 49 ซึ่งนับตั้งแต่มีกฎหมายฉบับนี้ จากปี 2546 – 2560 เป็นเวลา 15 ปี พึ่งจะตั้ง “สถาบันคุรุพัฒนา” ในปี 2560 ขึ้นมารับผิดชอบภารกิจนี้ ที่ผ่านมานับว่าการพัฒนาวิชาชีพครู ไม่ได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่ จากผู้บริหารประเทศอย่างจริงจังเท่าที่ควรจะเป็น
ข้อเท็จจริงที่ควรรับฟัง
- สถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา มีหน้าที่กำกับ ดูแล ด้านวิชาการของงานพัฒนาครู อันเป็นภารกิจสำคัญของคุรุสภา ตามพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 เปิดโอกาสให้หน่วยนิติบุคคลตามกฎหมายมีส่วนร่วมในการพัฒนาครูได้ โดยจดทะเบียนเป็นหน่วยพัฒนา ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีหน่วยพัฒนา ประมาณ 883 แต่มีหน่วยเอกชน ราว 420 ราย เท่านั้น นอกนั้นเป็นส่วนราชการ และในหน่วยเอกชน วิทยากรที่สังกัด ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เพราะคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นวิทยากรได้ จะต้องผ่านประสบการณ์การเป็นครูมาก่อน อย่างน้อย 10 ปี ฉะนั้น ข้อกล่าวหาที่ว่า โครงการนี้เป็นการสร้างรายได้เกินควรให้หน่วยเอกชนนั้น ไม่เป็นความจริง
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้กำหนดราคาหลักสูตรในแต่ละหลักสูตร โดยที่ราคาแต่ละหลักสูตรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เช่น บางหลักสูตร ราคา 2 พันบาท บางหลักสูตร 6 พันบาท ทั้งๆ ที่ก็จัดอบรม 2 วัน เหมือนกัน ทำให้ครูจำนวนหนึ่งเกิดความรู้สึกเสียดาย ไม่คุ้มค่า และเข้าใจแบบเหมารวมว่า เอกชนแสวงประโยชน์จากกรณีนี้ ซึ่งสพฐ.ก็ไม่ตอบข้อสงสัยนี้ว่ามีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาราคาอย่างไร หากจะมีการปรับปรุงวิธีการพิจารณาความเหมาะสมของราคาหลักสูตรใหม่ทั้งหมด ให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ก็จะเป็นคุณุปการต่อวงการศึกษาอย่างยิ่ง
- วิธีการบริหารงบประมาณ ที่สพฐ.โอนเงินให้กับ สนง.เขตพื้นที่ฯ เพื่อเบิกให้กับครูที่ลงทะเบียนเลือกหลักสูตร โดยครูจะต้องทำเรื่องขอยืมเงินล่วงหน้า และส่งใช้เงินยืมตามระเบียบ ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากกับการบริหารจัดการของสนง.เขตพื้นที่ฯ อย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ อาจจะมีผู้อำนวยการ สนง.เขตพื้นที่ฯ บางแห่ง อยากเสนอให้ยกเลิกโครงการนี้เสีย โดยไม่คำนึงถึงครูผู้จะสูญเสียประโยชน์แต่อย่างใด หากจะมีวิธีการงบประมาณใด ลดขั้นตอนนี้ได้ จักเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย รวมทั้งลดขั้นตอนของระบบการลงทะเบียนเลือกหลักสูตรเหลือที่จำเป็น
กราบเรียนด้วยความเคารพและจริงใจเป็นที่สุดว่า หากตัดสินใจยกเลิกโครงการนี้ นักเรียน ครู โรงเรียน และประเทศ จะได้รับความเสียหายจากการพัฒนาการศึกษาดังที่กราบเรียนเบื้องต้น โรงเรียนที่กระผมรับผิดชอบ มีนักเรียน 54 คน ครูประจำการ 2 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน จัดการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ไม่อาจจะมีอัตรากำลังครูเพิ่ม นอกเหนือจากเกณฑ์อัตรากำลังได้ จำเป็นจะต้องพัฒนาสมรรถนะครูให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้ครบถ้วนตามหลักสูตร รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะครูด้านเทคโนโลยีเพื่อนำเทคโนโลยีเข้าการใช้ในการจัดการศึกษามากขึ้น มิฉะนั้นนักเรียนจะสูญเสียโอกาสเข้าถึงการศึกษาครบถ้วนตามหลักสูตร และมีครูที่จะขาดโอกาสสะสมชั่วโมงพัฒนาที่จะขอมีและเลื่อนวิทยฐานะด้วย
ขอกราบเรียนได้โปรดพิจารณาจากข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ข้างตัน
ขอแสดงความนับถือ
(ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา)
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคำไฮน้อย สพป.อุบลราชธานี เขต ๑
งานบริหารบุคคล โทร 086-8686810
อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ไม่มีงบคูปองครู แล้วสร้างเกณฑ์บังคับทำไม? จดหมายเปิดผนึก ได้ที่ : ครูอัพเดตดอทคอม