
บอร์ด กพฐ.กลับลำปีการศึกษา 64 ไม่จำกัดรับเด็ก 40 คนต่อห้อง
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพฐ. ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 ในปีการศึกษา 2564 ที่เดิมมติ กพฐ.ให้จำกัดการรับนักเรียนไม่เกิน 40 คนต่อห้อง แต่การจำกัดจำนวนนักเรียนดังกล่าวในบางพื้นที่อาจมีความจำเป็นที่ไม่สามารถรับนักเรียนตามจำนวนดังกล่าวได้
ดังนั้นที่ประชุมจึงมีข้อสรุปของสัดส่วนการรับนักเรียนในปี 2564 ใหม่ โดยให้โรงเรียนสามารถรับนักเรียนระดับ ม.1 เพิ่มได้ตามความจำเป็นแต่ต้องไม่เกิน 10% โดยโรงเรียนจะต้องดำเนินการรับนักเรียนให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ จากนั้นในปีการศึกษา 2565 ก็จะมีการปรับลดสัดส่วนการรับนักเรียนต่อห้องเกินกว่าที่กำหนดได้แต่ไม่เกิน 5% และในปีต่อ ๆ ไปจึงจะล็อคสัดส่วนจำนวนรับนักเรียนไม่ให้เกิน 40 คนต่อห้อง
ประธาน กพฐ. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงความสัมพันธ์ระหว่างการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต กับการประเมินมาตรฐานโรงเรียน โดยโรงเรียนบางแห่งเราจะพบว่าการประเมินมาตรฐานจากสำนักงานรับรองคุณภาพและมาตรฐาน (สมศ.) กับผลทดสอบโอเน็ต ซึ่งพบว่าผลการทดสอบไม่มีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้มีการทบทวนเรื่องการประเมินมาตรฐานโรงเรียนของ สมศ.กับคะแนนโอเน็ตจะต้องมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันมากกว่านี้ เช่น หากประเมินว่าโรงเรียนนี้มีคุณภาพระดับดีมากผลของโอเน็ตก็ต้องดีตามไปด้วยเป็นต้น
ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้หารือถึงการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยจะเริ่มควบรวมโรงเรียนขยายโอกาสที่มีนักเรียนต่ำกว่า 100 คนลงไป ซึ่งจะวิเคราะห์จากการคมนาคมที่สะดวกเป็นหลัก ซึ่งมีโรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องเข้าสู่การบริหารจัดการทั้งการควบรวม ประมาณ 8,000 แห่ง และโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรอการยุบรวมอีกจำนวน 200 แห่ง
“บอร์ด กพฐ.ยังมีการหารือกับทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เพื่อนำหลักสูตรของ สพฉ.มาอบรมและพัฒนาครู ให้เรียนรู้หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือการการทำวิธีปฐมพยาบาลที่เพิ่มโอกาสรอดชีวิตหรือ CPR โดยการอบรมดังกล่าวจะดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ และสามารถชั่วโมงการอบรมไปเป็นส่วนหนึ่งของการใช้พิจารณาเลื่อนและมีวิทยาฐานะได้ด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการอบรม สพฉ.จะเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์แก่ครูและนักเรียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในชั้นเรียน” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว.
ครูอัพเดตดอทคอม ขอขอบคุณที่มาข่าวจาก #At_HeaR