แนะปฏิรูปการศึกษาต้องกระจายอำนาจให้โรงเรียน
ปชป.แนะรัฐปฏิรูปการศึกษาต้องกระจายอำนาจลงที่โรงเรียน ชี้ศธ.หลงทางใช้แอพพลิเคชั่นสอนภาษาอังกฤษ แนะเอาอย่างสิงคโปร์ใช้ครูสอนเด็กโดยตรง วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2559 เวลา 18:13 น.
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 10/2559 และ 11/2559 เกี่ยวกับการจัดการการศึกษา ว่า รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ ในการแก้ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นเอกภาพของการจัดการศึกษาในส่วน ภูมิภาค และกำจัดเหลือบในวงการศึกษาที่แฝงหากินกับ อ.ก.ค.ศ. นั้นอาจได้ผลในระยะเริ่มต้น แต่การรวบอำนาจไว้ที่กรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) และอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(อกศจ.)ในระยะยาวปัญหามาเฟีย ที่แอบหาผลประโยชน์กับครู ก็มีโอกาสเกิดขึ้นมาได้อีก ซึ่งถ้ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะปฏิรูปการศึกษาแม้จะมีการนำเรื่องตัวชี้ วัด(เคพีไอ) มาประเมินผอ.โรงเรียนและผู้บริหารระดับที่สูงขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อ การตอบโจทย์คุณภาพการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องเทน้ำหนักการปฏิรูปเพื่อคุณภาพการศึกษามาที่ โรงเรียน ไม่ใช่ที่ศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งจะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถึงโรงเรียนให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มอำนาจ และงบประมาณลงไปตรงที่โรงเรียน ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นเจ้าภาพในภารกิจเพื่อคุณภาพการศึกษา เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดครูและผู้ปกครอง จึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและอบรมครูเพื่อเป้าหมายคุณภาพการศึกษา โดยให้ศึกษาธิการจังหวัดทำหน้าที่สนับสนุน กำกับติดตาม ประเมินผล และอำนวยความสะดวก
“เข้าใจดีว่ารัฐบาลต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อปฏิรูปการศึกษา แต่อยากเรียกร้องทั้งรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษา ถ้าเห็นแก่คุณภาพการศึกษาและอนาคตของชาติจริง ส่วนกลางและจังหวัดต้องพยายามกระจายอำนาจและงบประมาณลงไปที่โรงเรียน ให้ผอ.โรงเรียนเขารู้สึกภูมิใจในบทบาทที่ได้รับถ้าผอ.ไม่มีฝีมือ ประเมินไม่ผ่านก็เปลี่ยน ผอ. ให้ผอ.รู้สึกเหมือนกับการเป็นผู้นำโดยเริ่มนำร่องในโรงเรียนที่พร้อมนี่ต่าง หากที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง”นพ.วรงค์ กล่าว
นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า
การที่กระทรวงมีแนวคิดที่จะให้คนไทยสื่อสารภาษาอังกฤษได้โดยใช้วิธีอบรมครู
แม่ไก่ และใช้แอพพลิเคชั่น "เอคโต อิงลิช"นั้น อาจมีประโยชน์บ้างระดับหนึ่ง
แต่การใช้วิธีนี้ถือว่ากำลังหลงทาง เหตุใดไม่เอาแบบอย่างสิงคโปร์
ที่สามารถทำได้สำเร็จกระทรวงต้องกล้าลงทุนเพื่ออนาคตของชาติ
โดยต้องใช้คนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นคนสอน
โดยเริ่มตั้งแต่อนุบาลหนึ่งเป็นต้นไปเพราะเด็กยิ่งเล็กยิ่งง่ายต่อการจดจำ
และได้ผลมากต่อการสื่อสาร
นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการต้องแก้ไขการที่เด็กนักเรียนไม่มีการเรียนซ้ำ
ชั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ
ดังนั้นกลับไปใช้วิธีการในอดีต
คือถ้าเด็กไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานก็ต้องมีการซ้ำชั้นอย่างน้อยจะทำให้เด็กและ
ผู้ปกครอง มีความกระตือรือร้นมากขึ้น.“