สวัสดีครับทุกท่านวันนี้เว็บไซต์ครูอัพเดตดอทคอมขอนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับการโยกย้ายข้าราชการครับ
วันนี้ขอเสนอเรื่องของการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ ที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำวินิจฉัยเอาไว้ ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.379/2554 โดยข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า
เรื่องนี้เป็นการที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งย้ายให้นายแพทย์สาธารสุข รายหนึ่งซึ่งถูกร้องเรียนเรื่องการบริหารงานและการเงินการคลัง และมีปัญหาด้านมนุษย์สัมพันธ์กับ เพื่อนร่วมงานไปปฏิบัติหน้าที่ที่กลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการย้ายที่ลดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบจากตำแหน่งบริหารมาปฏิบัติงานประจำที่กลุ่มงาน โดยไม่มีอัตราตำแหน่งที่เทียบเท่ากันรองรับ
โดยก่อนหน้านั้น ผู้บังคับบัญชาได้เคยมีหนังสือตักเตือนและให้โอกาสย้ายไปปฏิบัติงานในตำแหน่งสาธารณสุขอำเภออื่นมาแล้ว แต่ยังไม่มีการปรับปรุงตัว ถือได้ว่าการที่ผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่จากตำแหน่งเดิมไปปฏิบัติหน้าที่อีกตำแหน่งหนึ่ง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ปรับปรุงวุฒิภาวะ ด้านการบริหารและปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ตลอดจนแก้ปัญหาความวุ่นวาย การสร้างขวัญกำลังใจและแก้ปัญหาความระส่ำระสายในองค์กร
แม้ตำแหน่งที่ย้ายไปจะเป็นการลดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบก็ตาม แต่ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้บังคับบัญชาให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ผู้นี้แทนการลงโทษทางวินัยอันเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย คำสั่งย้ายดังกล่าว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เรื่องนี้จึงเป็นแนวบรรทัดฐานอย่างหนึ่งที่ผู้บังคับบัญชาสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการบริหารงานบุคคลได้เป็นอย่างดีแทนที่จะต้องดำเนินการทางวินัยแต่เพียงอย่างเดียวครับ
เพราะตามปกติการออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการผู้ออกคำสั่งสามารถพิจารณาออกคำสั่งได้โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้นั้นมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานแต่ต้องมีพยานหลักฐานและเหตุผลสนับสนุนเพียงพอประกอบการใช้ดุลพินิจ ตามมาตรา 30 วรรคสอง (6) ประกอบข้อ 1 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
โดยปกติจะต้องย้ายไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับเดียวกันแต่การย้ายไปแต่งตั้งในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิมได้จะสามารถดำเนินการได้เมื่อรับอนุมัติจากองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการนั้นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
แต่การย้ายที่มีสาเหตุจากการถูกร้องเรียนกล่าวหาถือเป็นการย้ายที่ไม่ใช่กรณีปกติจะต้องดำเนินการใช้อำนาจ โดยชอบ มีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนที่เพียงพอและก่อนมีคำสั่งผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมก่อนจึงจะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายครับ
ที่มา : กลุ่มวิจัยพัฒนากฎหมาย คดีความและนิติการ สพฐ.